ความเป็นผู้ใหญ่ อาจทำให้เราเผลอแนะนำ-สั่งสอนตามความคิดเห็นของเรา ส่วนความเป็นเด็กในตัวเรา จะช่วยให้เราเปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เป็นอิสระจากความคาดหวัง มีใจที่เป็นกลาง เกิดทางเลือกเพิ่มเติม
วันนี้ ขอนำเสนอการเรียนรู้ 2 แบบ เพื่อให้เกิดทางเลือก ว่าเราจะสร้างการเรียนรู้เพื่อใคร ในบริบทไหน อย่างไรจึงจะเหมาะสม
แบบที่ 1 สอนตรง - ทฤษฎีเอ็กซ์ (X-theory)
เมื่อเรามองว่าเขาต้องได้รับความรู้โดยตรงจากเรา เราจึงสอนเขาไปตรง ๆ โดยมีแนวทาง ดังนี้
- สอนวิธีทำ แจกแจงเป็นขั้นเป็นตอน
- สอนวิธีคิด เล่าเรื่อง แบ่งปัน Trick ในการทำงาน พร้อมเหตุผล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้วิธีคิด
- สอนวิธีเรียน ให้ช่องทางในการทบทวน หรือศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงช่องทางในการสอบถามเพิ่มเติมได้
ข้อควรระวังของวิธีนี้ คือ อำนาจเหนือ (Power Over) หมายถึง การวางตัวเหนือกว่าผู้เรียน ทำให้ผู้สอนอาจเผลอตัว-เผลอใจ ไปด้อยค่าหรือตำหนิติเตียนผู้เรียนได้ง่าย ดังนั้น ผู้สอนจำเป็นต้องมีความเมตตา และได้รับความไว้วางใจ (ศรัทธา) มากเพียงพอจากผู้เรียน
การจัดช่วงถามตอบ (Q&A) หรือทำวีดีโอที่ดูเหมือนว่าเรากำลังตอบคำถามใครคนหนึ่ง (Interview) นั่นแสดงว่า ที่เราสอน-เราตอบ ก็เพราะมีคนถาม แบบนี้จะช่วยลดอำนาจเหนือ และทำให้เนื้อหานั้นแทรกซึมสู่ใจผู้เรียนง่ายขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ว่าเราจะคือคนที่เก่งที่สุดในโลก ที่สามารถสอนทุกคนได้ 100% ดังนั้น จึงมีการเรียนรู้อีกแบบที่ไม่ใช่ การสอนตรง เราเรียกว่า การเอื้ออำนวย (Facilitation)
แบบที่ 2 เอื้ออำนวย - ทฤษฎีวาย (Y-theory)
เมื่อเรามองว่า เขามีศักยภาพเพียงพอ รอเพียงการเอื้ออำนวยให้ปรากฏขึ้นมา โดยเฉพาะการพัฒนาด้านในจิตใจ หรือ Soft Skills มุมมองเช่นนี้ จึงท้าทายความเป็นผู้ใหญ่พอสมควร เพราะเราต้องเคารพในตัวเด็ก ก้าวข้ามมายาคติแห่งตัวตน ปล่อยวางประสบการณ์ คุณวุฒิ วัยวุฒิของตัวเอง แม้เพียงชั่วคราวในขณะที่เอื้ออำนวยการเรียนรู้นั่นเอง
โมเดลหนึ่งสำหรับการเอื้ออำนวยการเรียนรู้ เรียกว่า
PACIT Model *
ประกอบไปด้วย
1. P: Purpose
ระลึกถึงเจตจำนงของชุมชนหรือห้องเรียน ซึ่งเราตกลงร่วมกันด้วยความเต็มใจ เช่น เราตั้งใจที่จะทำงานที่มีคุณค่าต่อสังคม (Purpose) เราต้องการทำงานด้วยความสนุก ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ในโอกาสที่เหมาะสม (Play) เราต้องการพัฒนาศักยภาพของเราด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Potential) เราจะคอยสังเกตตัวเองและปรับขยายมุมมองของตนเองให้เปิดกว้างอยู่เสมอ เพื่อให้เรามีสายตาแห่งความเป็นดั่งกันและกัน (Interbeing) เป็นต้น
2. A: Abilities
ความสามารถในการตระหนักรู้ในตนเอง ปรับสภาวะตนเอง ซึมซับรับรู้สภาวะรอบตัว เปิดพื้นที่ให้เกิดการสะท้อนการเรียนรู้ และเลือกปรับใช้เครื่องมือการเรียนรู้อย่างเหมาะสม
3. C: Context
ให้ความสำคัญกับบริบท สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมในปัจจุบัน จุ่มแช่ตัวเองตรงนั้นสักพัก เพื่อให้สามารถเอื้ออำนวยได้อย่างสอดคล้อง ถูกจังหวะเวลา และสร้างบรรยากาศที่เกื้อกูลความปลอดภัยทางใจ (Psychological Safety) เป็นพื้นที่เรียนรู้ เป็นช่วงเวลาที่ทดลองทำสิ่งที่ไม่ถนัดได้ โดยไม่มีการตัดสินกัน เป็นต้น
4. I: Inner
คุณภาพด้านในจิตใจ คือ หัวใจของการเอื้ออำนวย ถ้าเราเป็นอิสระจากความคาดหวัง จะทำให้มีสมาธิในกระบวนการได้อย่างเต็มเปี่ยม ปล่อยผ่านอคติของเราเอง การเรียนรู้ที่มีคุณภาพจะปรากฏขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ
5. T: Tools
เครื่องมือที่ใช้สร้างการเรียนรู้ ในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ตามบริบท คือ (1) เครื่องมือเมื่อปฏิสัมพันธ์กันตัวเป็น ๆ และ (2) เครื่องมือเมื่อปฏิสัมพันธ์กันออนไลน์ แต่ละส่วนก็มีเครื่องมือหรือกิจกรรมให้เลือกใช้มากมาย เราอาจเชี่ยวชาญเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งก็ได้ เช่น การเรียนรู้ผ่านศิลปะ, การเรียนรู้ผ่านโค้ชชิ่งการ์ด, การเรียนรู้ผ่านการเดินทาง หรือการเรียนรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติ เป็นต้น
ข่าวดีก็คือ มีประตูบานหนึ่ง ที่เชื่อมโยงองค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาเข้าด้วยกัน นั่นคือ ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เพราะการฟังอย่างลึกซึ้ง ช่วยให้เรายังคงเปิดรับผู้อื่น ให้อิสระ และเห็นด้านในจิตใจตนเอง ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นด้วยเช่นกัน
งานเขียนที่เกี่ยวข้อง
* Reference:
ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร. (2564). งานวิจัย ภาวะผู้นำแบบเอื้ออำนวยใน "คณะดั่งกันและกัน" หมู่บ้านพลัม ประเทศไทย (Facilitative Leadership in "The Order of Interbeing" Group, Plum Village, Thailand) ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล