วันนี้เรียนหัวข้อ The Science of Self-Acceptance
Jan 25, 2024
บทความนี้ คือ บันทึกการเรียนรู้จาก Oxford, UK
เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตร Oxford Positive Psychology
ก่อนเรียนรู้ในหัวข้อนี้ ผมมีความสงสัยว่าการทำงานด้านในกับ "จุดอ่อน" (Weakness) หรือ ด้านมืดของชีวิต จะเรียกว่า จิตวิทยาเชิงบวก ได้อย่างไร แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น จิตวิทยาเชิงบวก จะไปแตกต่างกับจิตวิทยาแขนงอื่น ๆ ได้อย่างไร หลังจากเรียนจบวันนี้ ทำให้ผมเข้าใจชัดขึ้นครับ
จุดอ่อน คือ กลไกการทำงานของร่างกาย แบบแผนทางความคิด และแบบแผนทางพฤติกรรมที่ลดสุขภาวะ มีความสั่นไหว เปราะบาง ไม่ใช่อารมณ์ เพราะอารมณ์เปรียบเสมือนเป็นเข็มทิศ แต่จุดอ่อนเปรียบเสมือนเป็นรูรั่วของเรือ ซึ่งจุดอ่อนส่งผลให้เกิดอารมณ์เชิงลบได้ รวมถึงเกิดความไม่สอดคล้องกลมกลืนในคุณค่าต่าง ๆ ของชีวิต สะกัดกั้นการบรรลุเป้าหมาย ในขณะที่ การยอมรับและเผชิญจุดอ่อน ถือเป็นจุดแข็งที่ยอดเยี่ยม บางครั้งเราเรียกจุดอ่อนว่า พื้นที่สำหรับการเติบโต แบบแผนที่ไร้ประโยชน์ หรือสิ่งที่สะกัดกั้น
สิ่งที่ทำให้ผมไม่มีความสุขในชีวิต หรือไม่เป็นไปตามชีวิตในอุดมคติ คือ การพูดภาษาอังกฤษ ผมเริ่มรู้ตัวเมื่อ 8-9 ปีก่อน ตอนที่อยากพูดคุยกับผู้คนมากมายที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทย เช่น เวลาไปเข้าร่วมงานภาวนาที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติหมู่บ้านพลัม และเวลาผมไปเป็นครูพี่เลี้ยงให้กับยุวพุทธฯ ในคอร์สปฏิบัติธรรมสำหรับเยาวชนนานาชาติ รวมถึงเวลาที่ผมไปเป็นอาสาสมัครงานพุทธโลก ที่ประเทศเกาหลีใต้ ผมรู้สึกอยากเชื่อมโยง ช่วยเหลือ แบ่งปันกับผู้คนที่พบเจอ แต่ว่าไม่สามารถทำได้ตามที่ต้องการ
ผมค่อย ๆ ทำการใคร่ครวญถึง แบบแผนความคิดและแบบแผนพฤติกรรม ที่ทำให้ยังไม่สามารถใช้ทักษะภาษาอังกฤษตอบสนองคุณค่าของชีวิตได้อย่างเต็มที่ แบบแผนทางความคิด ได้แก่ การความคาดหวังสูง การกลัวดูไม่ดี และแบบแผนทางพฤติกรรม ได้แก่ การคุ้นเคยที่จะพูดภาษาไทยแบบลึกซึ้ง การไม่ค่อยได้ใช้เวลาพูดคุยเล่น ๆ (Small Talk) ชอบการอยู่เงียบ ๆ ปลีกตัว (Avoidance) จึงไม่ให้เวลากับการฝึกทักษะการพูดภาษาอังกฤษ และเกิดจากกฎเหล็กส่วนตัว คือ "เราต้องเป็นคนรับฟังผู้อื่น 100%" ทำให้โอกาสในการฝึกพูดยิ่งน้อยลงไป จนในที่สุดก็ทำให้ทักษะการพูดพัฒนาได้ช้ากว่าที่ต้องการจะใช้งาน จากนั้น ผมได้ทำการวาดแผนผังความสัมพันธ์ เชื่อมโยงลูกศรไปมา ว่าเหตุปัจจัยอะไร ส่งผลต่อเหตุปัจจัยอะไรบ้างอย่างไร จากนั้น สะท้อนการเรียนรู้ และออกแบบวิธีการที่จะพัฒนาจุดอ่อน (Weakness) โดยเฉพาะแบบแผนการสนทนาในชีวิตประจำวันเพื่อเพิ่มการพูดคุยเล่น ๆ (Small Talk) ซึ่งเป็นการเติมเต็มคุณค่าในการเชื่อมโยงสัมพันธ์ในทันที (Connectedness)
จากกระบวนการเรียนรู้นี้ ทำให้ผมตัดสินใจว่า จะพูดคุยเล่น ๆ (Small Talk) ให้มากขึ้น ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ฟังแบบ 100% เหมือนที่ผ่านมา ในวันนี้ ผมฝึกการฟังมามากพอในระดับหนึ่งแล้ว ถึงเวลาเปลี่ยนกฎเหล็กที่ว่า "เราต้องเป็นคนรับฟังผู้อื่น 100%" มาเป็น "ฉันเลือกที่จะรับฟังบางช่วงเวลา และเลือกที่จะพูดบ้างในบางช่วงเวลา" คือ เพิ่มสัดส่วนการเป็นผู้พูดนั่นเอง
ทุกครั้งที่พูด คือ คุณค่าในการเชื่อมโยงสัมพันธ์เกิดขึ้น คุณค่าเกิดขึ้นทุกครั้งที่พูด (ส่วนระดับความสามารถในการพูดนั้น อยู่ในกระบวนการพัฒนา) ผมเดินเที่ยวเมือง Oxford แทนที่จะช็อปปิ้งแบบเงียบ ๆ ตอนนี้ ผมพูดคุยกัยคนขายเยอะเลย ผมพูดเพื่อเชื่อมโยงกับผู้คน ไม่ใช่เพื่อการวัดระดับภาษา
การตระหนักรู้ในจุดอ่อนของตนเอง เป็นพื้นฐานสำคัญของการรับมือกับปัญหา (coping) การสนับสนุนทางสังคม (social support) การเติบโตส่วนบุคคล (personal growth) และการยอมรับในตนเอง (self-acceptance) สิ่งที่เกื้อกูลการตระหนักรู้ในจุดอ่อนก็คือ การบ่มเพาะความสามารถในการสะท้อนตนเอง (Self-reflection) การเป็นอิสระจากโหมดปกป้อง (Free from defensiveness) และยอมรับตัวเองแบบไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Self-acceptance) ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นเรายังคงมีคุณค่า เพราะถ้าเรามีเงื่อนไขในการยอมรับตัวเอง เราอาจนำจุดอ่อนไปด้อยคุณค่า (low self-esteem) และไม่นำจุดแข็งไปพอกพูนตัวตน (Narcissism)
รวมถึงการแยกระหว่างการยอมรับในตนเอง ออกจากมุมมองที่เรามีต่อตนเอง เช่น ถ้าเราได้รับ Feedback เราจะยอมรับ โดยไม่ได้นำ Feedback นั้น มาเชื่อมโยงกับมุมมองต่อตนเอง (Self-view) เราจะไม่พูดว่า "ฉันสร้างสรรค์มากกว่าที่คุณคิด" การทำได้เช่นนี้ จะทำให้เราจะไม่จมปลักในโหมดปกป้อง เกื้อกูลให้เกิดการเปิดรับง่ายขึ้น โดยไม่ต่อว่าตนเอง ไม่ต่อว่าคนอื่น และไม่ต่อว่าสถานการณ์รอบตัว อย่างไรก็ตามเราไม่จำเป็นต้องจดจ่ออยู่แต่กับจุดอ่อนของตัวเองตลอดเวลา ถ้าเราจดจ่อมาก เราจะหาข้อมูลมายืนยัน สร้างเป็นเรื่องราวตอกย้ำจุดอ่อนของตนเอง ชีวิตเรายังมีจุดแข็งอีกมากมายให้เราได้สำรวจและใส่ใจ
ในกระบวนการเรียนรู้ ผมได้ทำแบบประเมิน Unconditional Self-acceptance Questionnaire จำนวน 20 ข้อ ผลปรากฏว่าได้คะแนน 4.5/7 หมายความว่า ผมมีรูปแบบการประเมินตนเองในระดับกลาง ๆ ก้ำกึ่งอยู่ระหว่าง 7 คะแนน คือ การยอมรับตนเองแบบไม่มีเงื่อนไข และ 1 คะแนน คือ การยอมรับตนเองแบบมีเงื่อนไข
การประเมินตนเองอย่างมีเงื่อนไข คือ การมีมาตรฐานในความสำเร็จ เช่น ฉันควรจะมีดูดี ฉันควรจะทำงานเก่ง และเมื่อถูก Feedback ว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน Self-esteem ก็จะถูกบั่นทอน ถ้าเราใส่ใจกับ Self-esteem เรากำลังใส่ใจกับการประเมินตนเอง โดยทีแต่ละคนจะมีมาตรฐานหรือไม้บรรทัดต่างกัน ถ้าเอามาวัดซึ่งกันและกัน ก็อาจจะเกิดผล 2 แบบ คือ เพิ่ม Self-esteem หรือ ลด Self-esteem
ผมได้ใคร่ครวญถึงช่วงเวลาที่ยอมรับตัวเองได้ยาก ซึ่งผมจับสัญญาณจากช่วงเวลาที่ผมมีพฤติกรรมเก็บตัว ไม่ค่อยอยากออกไปพบปะเพื่อนเก่า มักจะเกิดขึ้นตอนที่ยุติการทำงาน ธุรกิจ หรือการเรียน แล้วอยู่ในช่วงเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ ผมฝากคุณค่าของตัวเองไว้มาตราฐานทางการงานและการศึกษา ทำให้ลืมคุณค่าที่แท้จริงที่มีอยู่ในระหว่างทาง ขณะที่กำลังลงมือทำในปัจจุบัน ถ้าในช่วงเวลานั้นผมปล่อยผ่านมาตรฐานทางการงานและการศึกษาไปได้ ผมจะรู้สึกอย่างไร ผมใคร่ครวญต่อไปในคำถามนี้ และรู้สึกถึงความเป็นคนธรรมดา ที่ยังคงเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งในสังคมได้นะ เชื่อมโยงได้อย่างดีงามเลยล่ะ โดยไม่เกี่ยวกับมาตรฐานทางการงานและการศึกษาเลย
ถ้าอุปมาอารมณ์เป็นเข็มทิศ และจุดอ่อนเป็นรอยรั่วของเรือ การยอมรับในจุดอ่อนของตนเองอย่างไม่มีเงื่อนไข จะอุปมาได้กับกัปตันเรือที่เต็มใจที่จะเปิดเข็มทิศเพื่ออ่านทิศทางที่เกิดขึ้นอย่างซื่อตรง
การปรับปรุงตนเอง อาจเกิดจากความจำเป็น 2 แบบ
(1) ความจำเป็นสำหรับ Self-esteem การปรับปรุงแบบนี้ อาจนำไปสู่การพอกพูดอัตตาตัวตน "I am ok if....", "ถ้าฉันสำเร็จในด้านนี้ ฉันจึงมีคุณค่า" หรือ "ถ้าฉันล้มเหลวในด้านนี้ ฉันจะไร้ค่า" การไล่ตามการเห็นคุณค่าของตนเองแบบนี้ นำไปสู่อารมณ์เชิงลบ, การพิสูจน์ตัวเองไม่รู้จบ ขาดอิสระภาพในการเลือก กลัวความล้มเหลว ไม่กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ เกิดการเปรียบเทียบ และอยู่ในอุดมคติ คิดว่าตัวเองต้องสมบูรณ์แบบ หรือด้อยค่าตัวเองว่ายังดีไม่พอตลอดเวลา อุปมาเหมือนกัปตันเรือที่พยายามเปลี่ยนเรือใบ ให้เป็นเรือยอชท์
(2) ความจำเป็นสำหรับ Personal Growth การปรับปรุงแบบนี้จะมุ่งเน้นการเติมเต็มคุณค่าในชีวิต สิ่งที่เหมือนกับแบบแรก คือ การเผชิญกับจุดอ่อน และอาจพบกับความรู้สึกเชิงลบ แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ จะไม่ลดคุณค่าตัวเอง และจะมุ่งเน้นที่กระบวนการ มากกว่าผลลัพธ์ ตอบสนอง Need มากกว่าสิ่งที่คิดว่าควรจะเป็น และขับเคลื่อนด้วยความรักที่จะพัฒนา มากกว่าขับเคลื่อนด้วยความกลัวไม่ดีพอ
ตอบคำถาม 14 คำถาม จากนั้นพิจารณาว่าคำตอบของเราอยู่ในกลุ่มไหน เช่น appearance, financial status, creativity, spirituality, weight, performance at work, performance at school, role as ..., competence, achievements และสามารถเพิ่มเติมกลุ่มได้เพื่อให้สอดคล้องกับคำตอบที่เราได้ตอบออกมา
จาก 14 คำถาม ผมได้ทะยอยตอบและพบว่าคำตอบของผมเกี่ยวข้องกับ Domains of Self-worth ดังต่อไปนี้
ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ Communication และ Relationship รวมกันมากถึง 7 ข้อ ผมคิดว่าทั้ง 2 ส่วนนี้ สามารถรวมกันได้เป็นคำว่า การเชื่อมโยงกับผู้คนในสังคมวงกว้าง ซึ่งเติมเต็มคุณค่าของผมในด้าน Connectedness สำหรับส่วนที่ผมเคยให้ความสำคัญมากในอดีต คือ Spirituality แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในความกังวลใจมากเท่าไหร่แล้ว อาจจะเกิดจากการให้เวลากับสิ่งนี้มากเพียงพอในปัจจุบัน ส่วน Communication และ Relationship คือ สิ่งที่ต้องการเพิ่มให้มากกว่าเดิม
สิ่งสำคัญ คือ จะเป็นการพัฒนาเพื่อเติมเต็มคุณค่า ไม่ใช่การทำตามมาตรฐานที่หลากหลายในสังคม หรือมาตรฐานที่อาจแปรเปลี่ยนได้เสมอในใจเราเอง
การดูแลตัวเอง หรืออุดรอยรั่วของเรือจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเสียงภายในของเรานั้นมีความกรุณาต่อตนเอง (Self-compassionate internal voice) ใส่ใจความจำเป็น (Taking care of need) เช่น ถ้าเราจำเป็นต้องพัก เราจะไม่ต่อต้านแต่จะหยุดและพัก รวมถึงสามารถขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ (Actively seeking support) ตัดสินใจที่จะดูแลตนเองและชี้ถึงจุดอ่อน มากกว่าที่จะคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าอาย
ปล่อยผ่านการตัดสินตนเอง (Self-criticism)
ฉันทำอะไรผิดไป ฉันปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้ยังไง ฉันผิดพลาดตลอด มันต้องแย่แน่ ฉันโง่ เด็ก ๆ ยังทำได้ดีกว่าฉัน นั่นไง ฉันเลยไม่สำเร็จสักที เมื่อตัดสินตนเองอย่างหนัก เสียงตัดสินตนเองจะจมเข้าไปในตัวตนจนแยกไม่ออกว่า อะไรคือเสียงภายใน เพราะได้กลายเป็นเสียงภายในไปแล้ว เสียงภายในเหล่านั้นก็จะนำทาง ให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น เกิดภาวะกินเยอะ เสพยา ซึมเศร้า กังวลทางสังคม ความสัมพันธ์ทางสังคมบกพร่อง
ถ้าตัดสินตนเองบ่อย ๆ จะเกิด Self-neglect มุ่งเน้นการซ่อมแซม ละเลย Needs แล้วก็ทำร้านร่างกายตนเอง เช่น เครียด Needs คือ การพัก แต่ความคิดกลับตัดสินตนเองว่า ฉันมันล้มเหลว ถ้าเชื่อ Needs ก็จะพัก แต่ถ้าเชื่อการเสียงความคิดที่ตัดสินตนเอง ก็อาจจะทำงานหนักกว่าเดิม ในปัจจุบัน การปลูกฝั่งชุดความคิด ให้ทำงานหนัก ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว แต่เราจะต้องตอบสนอง Needs ที่มุ่งเน้นลดความเครียด เพื่อสุขภาวะในที่ทำงานมากขึ้น
มีความกรุณาต่อตนเอง (Self-compassion)
เมื่อเรามีความกรุณาต่อตนเอง Needs จะได้รับการดูแล เสียงความคิดตัดสินจะเปลี่ยนเป็นเสียงแห่งความกรุณา ฉันทำดีที่สุดแล้วในตอนนั้น ฉันเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่น ๆ ทั่วไป ฉันไม่ได้เซ็นสัญญาข้อตกลงกับความสมบูรณ์แบบ ฉันได้เรียนรู้บางอย่าง เอาล่ะ ครั้งต่อไป ฉันจะทำในสิ่งที่ต่างไปจากเดิมที่เคย
Self-compassion นั้นมีความมั่นคงกว่า Self-esteem เพราะไม่ได้เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม แต่ Self-esteem นั้นเปลี่ยนไปอยู่เสมอ ขึ้นลงตามเงื่อนไขและมาตรฐานหรือไม้บรรทัดที่นำเรามาใช้วัด เราจึงควรอยู่ให้ห่างจากความสัมพันธ์ที่ไม่เกื้อกูล (Unsupportive Relationships)
สรุปว่า หากเราดูแลจุดอ่อน (Weakness) ด้วยความกรุณาต่อตนเอง (Self-compassion) จะเกิดการดูแลตัวเอง (Sefl-care) ต่อไปนี้ คือ คำถามชวนคิดที่จะกระตุ้นให้เราเกิดความกรุณาต่อตนเอง
ถ้าเราตอบว่าเคยมากกว่าไม่เคย เราล้วนเป็นมนุษย์ธรรมคนหนึ่งเช่นกันครับ
แบ่งประสบการณ์ในการดูแลตัวเอง จากนั้นเลือกแนวทางเพิ่มเติม จากรายการ Emotional self-care, Physical self-care, Social self-care และ Spiritual self-care จากนั้นหาภาพประกอบ ข้อความประกอบ มาจัดเรียงเป็นภาพหนึ่งภาพ ที่จะกระตุ้นให้เราได้ดูแลตัวเอง
====================
Intuition: ดอกบัวอาจเกิดจากโคลนตม เมื่อเราเห็นดอกบัวที่งดงามได้ เราจึงยอมรับในโคลนตม คำถามคือ ดอกบัวจะงอกงามในอนาคต หรือว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน 😊💡
--- รัน ธีรัญญ์
ส่วนหนึ่งในหลักสูตร Oxford Positive Psychology
อำนวยการสอน โดย Dr.W Md Rayman
และผู้เชี่ยวชาญจาก University of Oxford