เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี อาศรมวงสนิท ได้มีการจัดงาน "วงศาพาสนิท" ขึ้นมา ผมได้ทราบข่าวและสมัครเข้าร่วมทันทีตั้งแต่ต้น เนื่องจากคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเป็นช่วงที่ชีวิต น่าจะต้องการการพัก ใคร่ครวญ และเสริมสร้างกำลังใจในการโอบรับความท้าทายใหม่ ๆ และขับเคลื่อนคุณค่าความหมายของชีวิต
13 ธันวาคม 2567
ผมขออนุญาตมาพักก่อนหนึ่งคืน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสถานที่ เมื่อได้มาถึงภาพต่าง ๆ ที่สัมผัสพบก็ทำให้ฟื้นคืนความหลัง ครั้งที่เคยมาอาศรมวงศ์สนิท ครั้งหนึ่ง คือ การพยายามมาเรียนหลักสูตรผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ ได้พบ อ.ประชา และครูเล็ก แต่ผมเรียนได้แค่ครึ่งวัน ก่อนสละสิทธิ์ให้ท่านอื่นมาเรียนแทน เนื่องจากติดภาระกิจการงานกระทันหัน อีกครั้งคือการมาเรียนเรื่อง “อำนาจกับวิถีแห่งจิตวิญญาณ” กับ อ.อวยพร เขื่อนแก้ว (16-18 กันยายน 2559) ในฐานะนักศึกษาจิตตปัญญาศึกษา รุ่น 7
14 ธันวาคม 2567
น้อง Inkz ทีมจัดงาน ได้มีการเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วม นำผลงานของตัวเองออกมาจำหน่าย หรือจัดแสดง ผมก็เลยได้นำป้ายแนะนำแพลตฟอร์ม InnerCorner.com ที่พัฒนาขึ้นมาเองมาตั้งไว้ ให้มิตรสหายได้เห็นผ่านตา เผื่อว่าวันหนึ่งจะมีประโยชน์ สนใจเข้ามาร่วมใช้งาน ส่งเสริมให้เป็นอีกชุมชน (ออนไลน์) ที่อิสระเกื้อหนุนกันและกัน เพื่อขับเคลื่อนคุณค่าความหมายของชีวิต ที่เชื่อมโยงกับมิติโลกด้านใน
กิจกรรมสร้างสรรค์ชุมชน (9.00-10.00 น.) นำกระบวนการโดยพี่อ้อย วราภรณ์ หลวงมณี เราเริ่มต้น Check-in ทีละคน โดย แนะนำชื่อ รากเหง้า และทำเลที่อยู่ปัจจุบัน เป็นคำถามที่ลึกซึ้ง ผมคิดในใจ ถ้าเริ่มต้นแบบนี้ พอจบงานนี้ ได้เรียนรู้กันแบบลงลึกแน่นอน
และเผอิญว่า ผมนั่งในตำแหน่งคนแรกที่จะได้ Check-in ก็เลยได้ขอบคุณคำถาม ก่อนที่จะแนะนำตัวด้วยความซื่อตรง แม้จะสั่นไหวบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไว้วางใจสถานที่ จากนั้นมิตรสหายก็ได้แนะนำตัวต่อ ๆ กันจนครบ ปรากฏให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และพื้นที่ปลอดภัยก็เกิดขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพียงแค่การ Check-in จากความกลัวที่จะเป็นคนส่วนน้อยหรือแปลกแยก กลายมาเป็นความภูมิใจ และพร้อมโอบรับซึ่งกันและกัน
จากนั้นเรานั่งล้อมวงตามเดือนเกิด แนะนำตัวเพิ่มเติม และแลกเปลี่ยนกันว่า อะไรคือลักษณะของคนที่เกิดเดือนเดียวกับเรา ในวงผมคือคนที่เกิดเดือน พฤษภาคม เราระลึกถึงครูบาอาจารย์หลายท่าน คือ ท่านพุทธทาส พระอาจารย์ไพศาล อ.ประชา หุตานุวัตร และ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู ซึ่งมีลักษณะของความเป็นผู้นำ นอกกรอบ และจริงจังในเรื่องที่ตนขับเคลื่อน
จากนั้นเรานั่งล้อมวงตามทำเลที่อยู่ ผมเลือกเข้าวงสนทนากับเพื่อน ๆ อีสานตอนบน เช่น หนองคาย อุดร ขอนแก่น เป็นต้น ผมเล่าถึงช่วงวัยประถม ขณะนั่งรถกระบะ (เปิดประทุน) ไปแข่งกีฬา และเมื่อฝนตกลงมา เราก็ร้องเพลงสนุกสนาน สอดคล้องกับเพื่อน ๆ ในวงที่บอกว่า คนอีสาน คือ คนที่สนุก มักม่วน ไม่ถือสา ให้อภัยง่าย
จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงพิธีบายสีสู่ขวัญ (10.00-12.00 น.) ผมพึ่งรู้ว่าเด็กเป็นฝ่ายผูกสายสิญจน์ให้ผู้ใหญ่ก่อน ผมได้ผูกสายสิญจน์ให้ อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์, พี่สันติสุข โสภณศิริ, พี่รสนา โตสิตระกูล, พี่บารมี ชัยรัตน์, อ.ลือชัย ศรีเงินยวง และมิตรสหายหลายท่าน เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกอิ่มเอมใจมาก รู้สึกขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ให้เราได้เรียนรู้และฝึกตนในวิถีทางที่อาจดูแปลกในสังคมทั่วไป แต่ไม่แปลกเลยในพื้นที่ที่ใช่ เราจะได้รับความเข้าใจ เป็นส่วนหนึ่ง และเป็นอิสระในการก้าวเดิน
เสวนาประสามิตร (13.30-15.30 น.) ชวนคุยโดย อ.ลือชัย ศรีเงินยวง เป็นช่วงที่ได้ซึมซับเรื่องราวของอาศรมวงศ์สนิท ผ่านการเล่าเรื่องของพี่น้อง ได้แก่ พี่บารมี ชัยรัตน์, พี่อาภาพร คำเจริญ, พี่สมบูรณ์ จึงเปรมปรีด์, น้อง Inkz เป็นต้น
ตอนหนึ่งผมได้ยินว่า ในยุคแรกเริ่มได้มีการนำ ข้อฝึกอบรมสติ 14 ประการของคณะดั่งกันและกัน หมู่บ้านพลัม (The Order of Interbeing) มาเป็นแนวทางในการฝึกปฏิบัติและอยู่ร่วมกัน สิ่งที่ผมได้ยินจากเรื่องราวและรู้สึกสอดคล้องกันก็คือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้หวนกลับมาคุยกันในวง ขอโทษกันได้ ให้อภัยกันได้ เป็นต้น
สำหรับถ้อยคำที่ฟังแล้วรู้สึกถูกปลุกเร้าจิตวิญญาณหรือชวนให้สืบค้นด้านในต่อไป เขียนใหม่ตามความเข้าใจของผม ก็คือ
กิจกรรมสร้างสรรค์ชุมชน (15.45-17.15 น.) โดยพี่นะ พี่จ๊ะ (ณฐ ด่านนนทธรรม และจีรนันท์ หลายพูนสวัสดิ์) เป็นกระบวนการแบบ Combo Set ให้เราดำรงอยู่ผ่านสัมผัสต่าง ๆ กิจกรรมเชือก 1 เส้น กิจกรรมผ้า 1 ผืน กิจกรรมก้าวตามเสียงกลอง กิจกรรมดำรงอยู่ตรงหน้า กับผู้คนและธรรมชาติ บอกได้เลยว่า Zen มาก ^^
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ เป็นกระบวนการกลุ่ม ขนาดใหญ่ ที่เต็มเปี่ยมด้วยสมาธิ มีการใคร่ครวญตนเองอยู่ระหว่างกิจกรรม สมาธินำมาสู่ปัญญาญาณ Intuition ปรากฏ เมื่อเข้าสู่วงสนทนาถ้อยคำจากคนหนึ่ง ถูกส่งต่อสู่จิตใจของอีกคน เมื่อสลับกลุ่มสนทนาแบบ World Cafe ก็ทำให้เกลียวความเข้าใจหมุนวนขึ้นไป กลายเป็นคำชื่นชม เพื่อนพี่น้องชาวลาวหลายสิบคนที่มาร่วมงาน ที่สะท้อนออกมาในวงได้อย่างเป็นเนื้อเป็นตัว อ่อนโยน ถ่อมตน และทรงปัญญา ความเป็นหนึ่งเดียวกับตนเอง ผู้คนรอบตัว และโลก ไม่อาจเข้าถึงด้วยความรู้ แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากการบ่มเพาะชีวิตอยู่ในชุมชนที่ใช่
15 ธันวาคม 2567
เรียบเรียงข้อความใหม่ตามความเข้าใจของผู้บันทึกการเรียนรู้
พี่หนูหริ่ง: หมกมุ่นเรื่องตัวเอง จนพบสภาวะที่เหมือนสูญเปล่า ว่างเปล่า ช่วงชีวิตสั้นยิ่งกว่ากระพริบแสง จนเห็นคุณค่าของการมีชีวิต การได้พบเจอสัมพันธ์กับผู้อื่น คือ ความวิเศษ ชีวิตที่เราดำรงอยู่ เกิดจากการมีผู้อื่นมากมาย ได้ทำหน้าที่มาอย่างยาวนาน จึงเกิดคำถามว่า เราเกิดมาทำไม
วิจักขณ์: สังคมดึงให้เราต้องวิ่งตาม ห่างไกลจากตัวเอง เมื่อเราฝึกตนเอง เกิดความพอใจในตัวเอง ความสัมพันธ์ต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
หลวงแม่นิรามิสา: ในระหว่างที่ต้องตัดสินใจเลือก Entrance การได้นั่งนิ่ง ๆ สงบลง ก็เกิดคำว่า "ทำอะไรก็ได้ที่ได้ช่วยคน"
พี่ปอนด์: เลือกทำสิ่งที่ชอบ ไม่เลือกในสิ่งที่สังคมคิดว่าดี ทำให้พบว่าชอบชนบท
พี่หนูหริ่ง: ฝันอยากเปลี่ยนโลก เพราะไม่รู้อะไรมากมาย ชีวิตค่อย ๆ ผ่านประสบการณ์ที่ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำ เห็นความจริง ๆ Culture Shock! เชื่อมโยงเข้ากับคุณค่า หรือโจทย์ของชีวิต
วิจักขณ์: การพบความทุกข์ หรือความผิดหวังกับสังคมบางต้าน ทำให้ได้ปลอดปล่อยตัวตนบางด้านออกมา เกิดการเชื่อมโยงกับผู้คนที่สนใจในแง่เดียวกัน เมื่อผ่านช่วงเวลาสักพักก็เข้าสู่สมดุล เกิด Engaged Buddhism กับชีวิตที่พอใจในปัจจุบัน
หลวงพี่นิรามิสา: Engaged Buddhism ให้ความหมายในภาษาเวียดนามว่า พระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน เหตุปัจจัยที่ทำให้มีความสงบศานติ ในระหว่างการรับฟังความทุกข์ของชาวบ้าน เมื่อเจอปัญหาในสังคม อำนาจ การล่วงละเมิด ความโกรธก็เกิดขึ้นมีเป็นธรรมดา แต่ด้วยการฝึกปฏิบัติ เราจะเห็นถึงรากแห่งความทุกข์ หรือปมบางอย่างที่ทำให้เราโกรธในเรื่องนั้นมากเป็นพิเศษ ทำให้สามารถใช้ Engaged Buddhism ได้อย่างมีศานติจากภาย สามารถฟังด้วยความกรุณา ฟังอย่างลึกซึ้ง ถ้าขับเคลื่อนด้วยความโกรธ ความแค้น นั่นอยู่บนฐานที่ผิด (Wrong Perception) ดูแลข้างในตนเอง จนเกิดความเข้าใจ เห็นความทุกข์ตนเอง เข้าใจความทุกข์ผู้อื่น จะกลายเป็นความเมตตากรุณา
พี่ปอนด์: การคิดไม่เป็น ช่วยให้เราไม่ทุกข์ ทำงานด้วยความสุข ความสนุก ความฝัน คือ ชุมขน Utopia ทุกคนจัดการตนเองได้ เมื่อมีผู้คนมาด้วยความทุกข์จากระบบทุนนิยม ก็ทำให้รู้ว่าภาระกิจของเรา คือ ภาระกิจแห่งยุคสมัย
พี่ปอนด์: ไม่คิดมาก ก็ไม่โกรธถ้าใครว่า ไม่มีความคาดหวังในตนเอง และไม่มีใครคาดหวังกับเรา เพราะเราเป็นคนธรรมดา
พี่หนูหริ่ง: ความโกรธ เหมือนเครื่องจักรไอน้ำ มันระเบิดได้ แต่มีประโยชน์ ถ้าโกรธไม่พอทำไม่ได้ แต่ต้อง Control ได้ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ ต้องมี Safety Cut เมื่อถึงเวลาต้องตัดการรับรู้ที่นำไปสู่ความโกรธ ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด หนึ่ง) ปิดรับของใหม่ ของเก่าก็หมดไป สอง) เข้าใจโลกมากขึ้น มีเวลาทำความเข้าใจ
วิจักขณ์: Enlightenment for all การตื่นรู้ การเข้าใจอย่างลึกซึ้อเพื่อสังคมด้วย ไม่ได้ทำแต่เพียงเพื่อตนเอง ความสบายใจจะเกิดขึ้นระหว่างทาง เพราะเราไม่แยกขาดจากใคร แม้มีความทุกข์ในระหว่างที่มีปณิธานที่ยาวไกล (Long-term Project) Compassion คือ การเมือง หมายถึงการเปิดรับ รับฟังกัน จะส่งผลต่อการการเมืองได้ การเปลี่ยนแปลงตนเอง คือสิ่งสำคัญ ไม่ตัดสินกันและกัน
พี่ปอนด์: เรื่องที่เราไม่ทำ เราไม่ทะเลาะกับใคร เพราะเสียพลังงาน เสียเวลา ยอมเข้าไปก่อน ฝึกละวางตัวตนเหมือนกับสูตรเว่ยหลวง "ไม่มีต้นโพธิ์ ทั้งไม่มีกระจกเงาใสสะอาด เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นจะลงจับอะไร"
วิจักขณ์: การทำความรู้จักตัวเอง คลายจากการเปรียบเทียบ รู้ว่าเราทำอะไรได้ โอเค พอใจกับตัวเอง พลังงานดี ๆ จะถูกส่งต่อไป เมื่อเจอความโกรธ นอกจากตระหนักรู้ เราสามารถก้าวกว้างขึ้นไปอีก (transcendence) ได้ ฝึกโพธิจิต จิตแห่งการตื่นรู้ ธรรมชาตินี้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างทาง ความรู้สึกขอบคุณ (Gratitude) ทุกสิ่งในชีวิต ช่วยยกระดับจิตใจเราได้มาก
พี่หนูหริ่ง: การดูแลตัวเอง การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องผิด และคือการทำเพื่อสังคมแล้ว
ในช่วง Workshop: Dear Conflict (13.30-15.30 น.) โดย วินิทรา แก้วพิลา บนพื้นฐานของ Process Work
เราล้อมวง 3 คน A: เล่าสถานการณ์ความขัดแย้ง ในระดับ 7/10 B จงตั้งคำถามและระบุบทบาทและคู่ขัดแย้ง และ C สังเกตหรือช่วยสวมบทบาท
ผมพบว่าตัวเองให้คุณค่ากับการเปิดรับ รับฟัง โดยไม่ตัดสิน แต่ปรากฏว่าตัวเองนี่แหละอาจจะมีเสียงตัดสินคนอื่นเสียเอง ตัดสินผู้รู้ที่ไม่ฟังผู้อื่น ตัดสินผู้ใหญ่ที่ไม่ฟังเด็ก ผมเรียกตัวตนนี้ว่า ผู้ตัดสินผู้รู้
ถ้าเป็นเสียงภายใน 2 ขั้ว ให้เราสังเกตว่าเราเข้าข้างฝั่งไหน แล้วทำให้ชัด เมื่อข้างหนึ่งชัด อีกข้างจะชัดขึ้น นำพา Concensus Reality (CR) ไปสู่ Dreamland และ Essence สำหรับผม ในที่นี่ และขณะนี้ คือ เสียงที่บอกว่า ยอมได้ยอม ปล่อยได้ปล่อย เก็บพลังงานไว้ ใส่ใจกับเรื่องที่สำคัญ
16 ธันวาคม 2567
เราจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้อย่างไร (9.00-12.00 น.) นฤมล ไพบูลย์สิทธิคุณ Moderator
เรียบเรียงข้อความใหม่ตามความเข้าใจผู้เขียนบันทึก
โจน จันใด คำว่า "การพัฒนา" เราคิดถึงด้านเดียว พัฒนามากขึ้น เร่งมากขึ้น ทำงานมากขึ้น ทรัพยากรน้อยลง ทำงานหนักเพื่อซื้อน้ำขวดดื่ม เสียเงินซื้อขวดแต่ดื่มน้ำเสร็จก็ทิ้งขวดน้ำ สุขภาพแย่ลง GDP สูงขึ้น แต่หมายถึง ดิน น้ำ พืชพันธ์แย่ลง การพัฒนาแบบนี้มันเหนื่อย เราจะพัฒนาอย่างไร ให้ชีวิตง่ายขึ้น สบายขึ้น
เริ่มต้นที่เรารักตัวเองไหม ถ้าเรารักตัวเอง เราจะเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ เราจะกินอย่างหลากหลายมากมาย (ไม่ได้กินตามอาหารในระบบทุนนิยมจัดหาให้) โลกจะเปลี่ยน
การตัดขาดคนออกจากตนเอง ครอบครัว กันและกัน ทำให้คนต้องพึ่งการทำมาหาเงิน พยายามมีอิสระทางการเงิน แต่อิสระที่แท้จริง คือ การพึ่งพาตนเอง คนที่มีความสุข คือ คนที่บริโภคน้อย
ศิวกร โอ่โดเซา (แซวะ) เราเชื่อมโยงกัน ต้นน้ำของคนบนดอย คือ ทะเล เพราะเราชอบกินปลาทู และใช้เกลือที่มาจากทะเล
นคร ลิมปคุปตถาวร (เจ้าชายผัก) ถ้าเราใส่ใจสักนิด เราจะรู้ว่าดินต้องการอะไร ผักต้องกาอะไร ผู้คนต้องการอะไร ปัจจุบัน พบว่าหัวใจของเรามีเซลล์ประสาทอยู่ด้วย แต่เรารู้มานานแล้วว่า ถ้าเรากำลีงทำอะไร เราสามารถถามใจตนเองได้ การผลิตต้องมีหัวใจ การศึกษาต้องมีผู้คน
มัยมูเนาะ ซับบุตรดี (ประธานนักรบผ้าถุงจะนะ) นำบทเพลงมาให้พวกเราได้ขับร้องร่วมกัน
เวลา 15.45-17.45 น.
โดย อ.ศศิน เฉลิมลาภ
เรียบเรียงข้อความใหม่ตามความเข้าใจผู้เขียนบันทึก
คนที่สัมผัสถึงความสำคัญของป่าและสัตว์ป่าจะอธิบายความสำคัญของ Biodiversity ได้อย่างไร
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) อยู่ที่เดียวกับทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ใช้ เป็นเหมือนเข็มขัดเส้นเล็ก ๆ รอบโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเล็กมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั่วโลก แต่ผืนป่าตรงนี้ มีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าประเทศใหญ่ ๆ หลายประเทศรวมกัน
ความพอดี ทำให้เกิดชีวิต โลกขนาดพอดี สภาพแวดล้อมพอดี นกปากโค้ง พอดีที่จะดูดเกสรจากดอกไม้บางชนิด ธรรมชาติวิวัฒนาการไปสู่ความพอดี การทำลายบ้านของสัตว์ป่า สัตว์ป่าก็ล้มตาย ไปจนถึงสูญพันธุ์
การปลูกป่าทดแทนการปล่อย Co2 ทำให้สูญเสียความหลากทางชีวภาพ การปล่อยให้ธรรมชาติวิวัฒนาการตัวเอง คือ วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างเขื่อน แล้วปลูกป่าทดแทน จึงไม่สามารถชดเชยระบบนิเวศน์เดิมได้
การตัดถนนผ่านป่า ทำให้ลิงไม่สามารถห้อยโหนไปมาได้ตามลักษณะทางกายภาพของลิงที่แขนของเขาจะยาวกว่าขาที่ใช้เดิน การเดินที่เชื่องช้าทำให้ลิงถูกรถชน การสืบพันธุ์ในพื้นที่ที่ขาดความหลากหลาย ทำให้เกิดความอ่อนแอในสายพันธุ์ และเมื่อมนุษย์เข้าไปให้อาหารลิง ยิ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศน์
การพบเสือหนึ่งตัว แสดงถึงความอุดมของระบบนิเวศน์ มีหลากหลายทางชีวภาพ อาจหมายถึงการมีกวาง 80 ตัว พืชพันธุ์อาหารของกวางจำนวนมาก อยู่ในบริเวณตรงนั้น ถ้าพบว่ามีลูกเสือด้วยก็แสดงว่าพื้นที่ตรงนั้นมีระบบนิเวศน์ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากพอ จนเสือสามารถขยายพันธุ์ได้ การทำลายป่าจึงไม่สามารถชดเชยด้วยการปลูกป่าทดแทน
ปัจจุบัน สิ่งที่นักอนุรักษ์ทำได้ คือ การชะลอการพัฒนาที่ทำลายผืนป่า เพื่อรักษาความหลายหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) โดยมองว่าการนำสรรพกำลังมารักษา 102 ล้านไร่ที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศไทย (1/3 ของประเทศ) ยังดีกว่าการปลูกเพิ่ม 1 ล้านไร่ เพื่อ Carbon Credit ในขณะที่ นักสิ่งแวดล้อมจะขับเคลื่อนผ่านการปลูกป่า และการใช้ถุงผ้า เป็นต้น หรือจุดร่วมในการอนุรักษ์และการพัฒนา จะคือการส่งออกนวัตกรรมการเรียนรู้ เกี่ยวกับทรัพยากร สัตว์ป่า และพืชพันธุ์
ด้วยเหตุปัจจัยทั้งหมดนี้ เราจำเป็นต้องมีนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ จำนวนมาก ที่มีการสื่อสารแบบใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ 🌳🌳🌳✨️
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
--- รัน ธีรัญญ์