แรงจูงใจ 3 ระดับของมนุษย์ (Hierarchy of Motivation)

แรงจูงใจขับเคลื่อนให้มนุษย์ทำสิ่งต่าง ๆ มีทั้งแรงจูงใจจากภายใน ทำเพื่อตอบสนองความต้องการลึก ๆ ในใจ และแรงจูงใจจากภายนอก ทำเพื่อรางวัล หรือสิ่งที่จะได้รับ หลังจากทำงานสำเร็จลุล่วง นอกจากนี้ แรงจูงใจยังแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ตามเป้าหมายที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ เพื่อตนเอง เพื่อกลุ่ม และเพื่อสังคม โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ 
.
🧸 เพื่อตัวฉัน (Focus on Self)
แรงจูงใจในระดับนี้ ช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ ตอนเด็ก ๆ เวลาที่เราหิว เราก็จะร้องไห้เพื่อจะได้กิน เวลาเราอยากได้ของเล่น ก็เลยพยายามจะร้องไห้งอแง เพื่อหวังว่าจะได้ของเล่นเช่นกัน หากเติบโตขึ้นมาแล้วไม่ยับยั้งชั่งใจ ก็จะกลายเป็นนิสัยแบบ "อยากได้ฉันก็จะเอา" เมื่อชอบใคร ก็จะเรียนรู้ว่าต้องทำดีกับคนอื่นเพื่อที่จะได้รับความรักกลับมา แรงจูงใจในระดับนี้ ยังคงมีอยู่เสมอ อย่างน้อยก็เพื่อว่าจะเพียงพอที่จะประทังชีวิตอยู่ได้ และแน่นอนบางทีแรงจูงใจในระดับนี้ ก็มีแบบไม่รู้จักพอ แทนที่จะเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะพอให้ไปสู่เป้าหมายสำคัญของชีวิต กลับสะสมกักตุน ดึงดูดทุกอย่างที่อยากได้ จนเสียสมดุลของชีวิตและสังคมไป การให้เงินรางวัล โบนัส สินน้ำใจ นโยบายประชานิยม สามารถสร้างแรงจูงใจในระดับนี้ได้
.
⚽️ เพื่อกลุ่มฉัน (Focus on Team)
แรงจูงใจในระดับนี้ เกิดขึ้นเพราะเราได้พบว่า ความสุขนั้น นอกจากจะเกิดจากการได้ในสิ่งที่ชอบ ยังเกิดจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีอีกด้วย การได้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มทำให้เกิดสุขภาวะทางสังคม (Social Wellbeing) จากงานวิจัยพบว่า ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ตัว ส่งผลให้อายุยืนและมีความจำที่ดีในระยะยาวอีกด้วย แรงจูงใจในระดับนี้ เกิดจากความรัก รักครอบครัว รักกลุ่ม รักทีม รักพวกพ้อง ถ้าทีมเราชนะในการแข่งขัน เราก็ย่อมดีใจเป็นธรรมดา มากไปกว่านั้น ถ้าทีมคู่แข่งแพ้ เผลอ ๆ เราอาจสะใจ ดังนั้น เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างทีม เราจึงออกแบบกฏกติกาเพื่อการอยู่ร่วมกันขึ้นมา การสร้างสังคมที่ดีในการทำงาน จะช่วยสร้างแรงจูงใจในระดับนี้ได้
.
🌎 เพื่อสังคม (Focus on Society)
แรงจูงใจในระดับนี้ เกิดจากการใส่ใจอย่างลึกซึ้งกับผู้คนและสภาพแวดล้อม เห็นความสำคัญของกฏหมู่ เพื่อการอยู่ร่วมกัน แต่ก็รับรู้ถึงความหลากหลายในสังคมและพบว่า บางซอกหลืบกฏหมู่ได้สร้างความทุกข์ให้กับเพื่อนในสังคม มนุษย์จึงเกิดการเรียนรู้ที่จะใส่ใจกันอย่างละเอียดอ่อนมากขึ้น รวมไปถึงการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับคุณค่าความหมายของงาน การทำให้เห็นว่า งานที่ทำอยู่ช่วยเหลือใคร อย่างไร และงานที่ทำอยู่ช่วยเหลือเกื้อกูลสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะสามารถสร้างแรงจูงใจในระดับนี้ได้
.
แรงจูงใจทั้ง 3 ระดับ มีอยู่แล้วในก้นบึ้งของจิตใจเราทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้น ชีวิตของเรากำลังก้าวเดินผ่านบริบทแวดล้อมอย่างไร และเราจะเลือกใช้แรงจูงใจของเราเพื่ออะไร
.
--- รัน ธีรัญญ์ #runWISDOM 
.
Adapted from Hierarchy of Motivation by Lawrence Miller. (2014). The Lean System of Motivation. Management Meditations on Leadership, Learning and Culture.

Run Wisdom วิทยากร กระบวนกร ที่ปรึกษา โค้ชผู้บริหาร
เขียน 04 เม.ย. 2566 03:26
ปรับแก้ 22 มิ.ย. 2566 17:30