การออกแบบหลักสูตร Mindful Leadership แบบ 1-2 วัน สำหรับคนทำงานที่จัดเวลาเรียนได้ไม่มาก จะออกแบบอย่างไร ให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใคร่รู้และไปฝึกปฏิบัติต่อ ไปจนถึงรองรับ กรณีที่ผู้สอนได้พบผู้เรียนที่มีความเข้าใจเกินกว่าผู้สอน
ในระหว่างการออกแบบหลักสูตรนี้ ก็เกิดนึกถึง ผลลัพธ์ขั้นสูงของสติ สมาธิ ปัญญา นั่นคือ การเป็นอิสระจากพันธนาการ (สังโยชน์) 3 อย่าง ได้แก่ ได้แก่ 1) พันธนาการจากตัวตน 2) พันธนาการจากความลังเลสงสัย และ 3) พันธนาการจากแบบแผนเดิม ทำให้เกิดเนื้อหาการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้
ดำรงบทบาทได้อย่างเหมาะสม เป็นอิสระจากตัวตน
คนทำงาน 1 คน มีบทบาท หน้าที่ที่หลากหลาย มีทั้งงานหลัก งานรอง งานแทรก งานด่วน รวมไปถึงบทบาทในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว
ดังนั้น จะทำอย่างไร ให้ผู้เรียนสามารถปล่อยวางบทบาทได้เร็ว เพื่อทำหน้าที่ของตนได้อย่างเท่าทันเป็นปัจจุบัน
มีความน่าเชื่อถือ เป็นอิสระจากความสงสัย
คนทำงานแต่ละคน จำเป็นต้องทำงานตามเป้าหมายขององค์กร หากในกระบวนการนั้นขาดการตัดสินใจด้วยตัวเอง เมื่อเวลาผ่านไปอาจเกิดความลังเลสงสัยในสิ่งที่ทำ เพราะลืมเชื่อมโยงกับคุณค่าในใจ
ดังนั้น จะทำอย่างไร ให้ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของการทำงาน
รับรู้ข้อมูลตามจริง เป็นอิสระจากแบบแผนเดิม
คนทำงานที่ผ่านประสบการณ์มาสักระยะหนึ่ง จะมีประสบการณ์ที่ภูมิใจก่อประกอบเป็นแบบแผนการทำงานที่เคยนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ด้วยโลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก แบบแผนเดิม ๆ จึงอาจเวิร์ค หรือไม่เวิร์คแล้วก็เป็นได้
ดังนั้น จะทำอย่างไร ให้ผู้เรียนเกิดการสร้างสรรค์แผนงานให้สอดคล้องกับโลกภายนอก
มีความสัมพันธ์ที่ดี และเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างได้
ถ้าผู้เรียน เกิดความเข้าใจหรือเป็นอิสระจากพันธนาการ 3 อย่างแล้ว จะทำอย่างไรต่อได้บ้าง เลยคิดว่าน่าจะเติมบทที่ 4 อีกสักบท เพื่อให้เกิด "การแจกของส่องตะเกียง" คือ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ เป็นกัลยาณมิตร เป็นบุคคลต้นแบบ และแบ่งปันการเรียนรู้ให้กับผู้อื่นต่อได้
ตามแนวคิดนี้ หลักสูตรนี้ ก็เลยจะมี 4 บท ได้แก่
1. Roles and Responsibilities อยู่ในปัจจุบัน
2. Reliability มั่นใจในคุณค่า
3. Realization เปิดรับพัฒนา
4. Relationship นำพาความสุขใจ
--- รัน ธีรัญญ์
แรงบันดาลใจจาก เรื่อง สังโยชน์ 3
หลักสูตรที่เกี่ยวข้อง ผู้นำแห่งสติเพื่อสุขภาวะในที่ทำงาน