แบบแผนการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาด้านในจิตใจ

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนส่งผลสะเทือนถึงภาวะในจิตใจอย่างชัดเจน กระตุ้นเตือนให้เรามองหาแนวทางในการพัฒนาด้านในจิตใจตนเอง Inner Development Goals (IDGs) หรือ เป้าหมายการพัฒนาด้านใน เป็นหนทางหนึ่งให้เราเข้าใจร่วมกัน และฝึกฝนมิติด้านในจิตใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ในบทความนี้ จะนำพาให้รู้จักแบบแผนการเรียนรู้ที่ช่วยขยายการเรียนรู้ด้านใน ได้แก่

  • อัตวิสัย (Subjective Learning) vs วัตถุวิสัย (Objective Learning)
  • อุปนัย (Inductive Process) vs นิรนัย (Deductive Process)

และเราจะผสานแนวคิดเหล่านี้กับรูปแบบการฝึกฝนใน 3 บริบท ได้แก่

  1. การฝึกเพียงลำพัง (Solitude Practice)
  2. การฝึกร่วมกับสังฆะ (Community Practice)
  3. การเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างด้านในและด้านนอก (The unity of mind and world)

รวมถึงทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยงกันในเส้นทางของ IDGs (Inner Development Goals) อย่างไร

การเรียนรู้จากภายในและภายนอก

อัตวิสัย (Subjective Learning) คือ การรับรู้หรือเรียนรู้จากมุมมองส่วนตัว เช่น ความรู้สึก ความคิด ความทรงจำของเราเอง เป็นการเรียนรู้ที่มีรากฐานจากประสบการณ์ตรง เช่น การรู้สึกกลัวเมื่อพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก แล้วสังเกตตัวเองอย่างลึกซึ้งจนเข้าใจรากของความกลัวนั้น

วัตถุวิสัย (Objective Learning) คือ การเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นกลางหรือเป็นสากล โดยไม่ยึดติดกับความรู้สึกส่วนตน เช่น การสังเกตเห็นว่า "ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่กลัวการพูดในที่สาธารณะ" หรือการใช้หลักฐานจากงานวิจัยมาช่วยยืนยันสิ่งที่เรารู้สึก

ในบริบทของ IDGs การผสมผสานทั้งสองมุมมองทำให้การพัฒนาด้านในมีรากฐานและความลึก เช่น

  • การตระหนักรู้ว่า "ฉันมักจะตอบสนองอย่างรุนแรงเวลาโดนวิจารณ์" นี่คือการเรียนรู้แบบอัตวิสัย (Subjective Learning)
  • หลังจากเรียนรู้เรื่องประสาทวิทยาศาสตร์ ทำให้เรารู้ว่า "กลไกปกป้องตัวเองเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของสมองมนุษย์" นี่คือการเรียนรู้แบบวัตถุวิสัย (Objective Learning)

เส้นทางสู่ความเข้าใจ

อุปนัย (Inductive Process) คือ การเรียนรู้จากประสบการณ์เฉพาะ แล้วค่อย ๆ สรุปเป็นหลักการ เช่น เราลองฟังเพื่อนด้วยความเงียบหลายครั้ง แล้วพบว่าความสัมพันธ์ดีขึ้น จึงสรุปว่า "การฟังอย่างลึกซึ้งสร้างความไว้วางใจ" (เรียนผ่านประสบการณ์ตรงก่อน แล้วจึงสรุปเป็นหลักการบางอย่าง)

นิรนัย (Deductive) คือ การเริ่มต้นจากเรียนรู้หลักการบางอย่าง แล้วนำไปทดลองใช้ในชีวิต เช่น เราเรียนรู้หลักการของ Nonviolent Communication จากหนังสือ แล้วจึงลองฝึกสื่อสารกับเพื่อน โดยใช้ภาษาแบบที่ไม่ตัดสินตนเอง ไม่ตัดสินผู้อื่น (รู้หลักการก่อน แล้วจึงไปพิสูจน์ผ่านประสบการณ์)

ในเส้นทาง IDGs การเรียนรู้ทั้งสองล้วนมีความสำคัญ

  • อุปนัย (Inductive Process) การรู้จากประสบการณ์จริง ทำให้เราเข้าใจแบบลึกซึ้ง ค่อยย้อนกลับมาเชื่อมโยงหรือปรับปรุง IDG Framework
  • นิรนัย (Deductive) การทำความเข้าใจหลักการของ IDG โดยศึกษา IDG Framework ก่อน แล้วค่อยนำไปฝึกปฏิบัติ

การฝึกปฏิบัติ: แบบอยู่เพียงลำพังและอยู่ร่วมกันในสังฆะ

การเรียนรู้เชิงลึกไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่จากการอ่านหรือฟังเท่านั้น แต่ต้องเกิดผ่านการฝึกฝนในแบบต่าง ๆ

1. การอยู่เพียงลำพัง (Solitude Practice)

เป็นพื้นที่ที่เราสามารถกลับมาเชื่อมต่อกับตนเองอย่างลึกซึ้ง สังเกตความคิด ความรู้สึก และลมหายใจ เป็นเวทีสำคัญของการเรียนรู้เชิง Subjective และ Inductive เช่น

  • สังเกตความไม่สบายใจเมื่อถูกรบกวนระหว่างทำงาน แล้วค่อย ๆ เข้าใจว่าตัวเองให้คุณค่ากับ “พื้นที่ส่วนตัว” (Subjective Learning)
  • เป็นพื้นที่ที่เราค้นพบความจริงของใจ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้ใครสอน (Inductive Process)

2. การอยู่ร่วมกันในสังฆะ (Community Practice)

คือการฝึกฝนร่วมกับผู้อื่น เช่น การนั่งสมาธิร่วมกัน ล้อมวงสนทนาอย่างมีสติ หรือรวมกลุ่มฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นการเรียนรู้ที่เอื้อต่อ Objective และ Deductive เช่น

  • ฟังประสบการณ์ของผู้อื่น แล้วเข้าใจว่าความกลัว ความสับสน เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์
  • นำหลักการจากการอบรม เช่น Deep Listening, Dialogue, หรือ Internal Family Systems มาทดลองฝึกจริง และได้รับข้อเสนอแนะจากผู้อื่น ที่ทำให้เข้าใจลึกขึ้น

3. การเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างด้านในและด้านนอก (The unity of mind and world)

บางครั้งการอยู่เพียงลำพังก็เหมือนการอยู่ร่วมกัน และบางครั้งการอยู่ร่วมกันก็เหมือนการอยู่เพียงลำพัง

การทำกิจกรรมบางอย่าง อาจอยู่ในสภาวะที่มีการดำรงอยู่ในปัจจุบันอย่างเต็มเปี่ยม (Presence) และเกิดการเชื่อมโยงกัน (Connectedness) โลกด้านในกับโลกด้านนอกเป็นหนึ่งเดียวกัน (The Unity of Mind and World)

เช่น การฟังเสียงคำสอนภายนอกพร้อมกับใคร่ครวญด้านในจิตใจ การอยู่เพียงลำพังอย่างสงบพร้อมกับรู้สึกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งกับธรรมชาติรอบตัว ในสภาวะเช่นนี้ การเรียนรู้ทุกรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น อาจเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน

  • เปิดรับความรู้จากทั้งภายใน และภายนอก
  • เรียนรู้ทั้งจากการฝึกปฏิบัติไปสู่ทฤษฎี และเรียนรู้จากทฤษฎีไปสู่การฝึกปฏิบัติ
  • อยู่กับตนเองอย่างสงบ และอยู่กับผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง

บางครั้ง ความเงียบของการอยู่คนเดียว พาเรากลับมาหาหัวใจของตนเอง บางครั้ง เสียงสะท้อนจากเพื่อนร่วมทาง ทำให้เราเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น

เส้นทางของ Inner Development Goals จึงไม่ใช่การเดินทางคนเดียว แต่เป็นทั้ง "การเดินทางภายใน" และ "การเดินทางร่วมกัน"

จนในที่สุด ความจริงได้ปรากฏอยู่ โดยไม่มีการแบ่งแยก ว่าเป็นภายในหรือภายนอกตัวเรา การดำรงอยู่ในปัจจุบัน (Presence) และการเชื่อมโยงกัน (Connectedness) อาจเป็นคำอธิบายเบื้องต้น ของสภาวะความเป็นดั่งกันและกัน (Interbeing) ที่พบได้ในระหว่างทางของการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยให้เราเติบโตทั้งในฐานะมนุษย์ และสมาชิกของโลกใบนี้

Run Wisdom วิทยากร กระบวนกร ที่ปรึกษา
Since:
Update:

Read : 82 times