อิทธิบาท ๔ ในชีวิตประจำวัน (ITTI Learning Guideline)

ข้อค้นพบหนึ่งจากงานวิจัย เรียกว่า "ITTI Learning Guideline" เป็นองค์ความรู้ใหม่จากรากฐานเรื่อง "อิทธิบาท ๔" และ การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential Learning) ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ 

จุดสำคัญของ ITTI Learning Guideline ที่เกี่ยวข้องกับ IDG Framework คือเรื่อง "Presence" โดย IDG ได้ให้ความหมายคำว่า "Presence" เอาไว้ว่า ความสามารถที่จะดำรงอยู่ ณ ที่นี่และขณะนี้ โดยปราศจากการตัดสิน ดำรงอยู่ในสภาวะของการเปิดรับอย่างเปิดกว้าง (Ability to be in the here and now, without judgement and in a state of open-ended presence.) โดยสามารถนำ ITTI Learning Guideline ไปจัด Workshop สร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ IDG จากด้านในจิตใจตนเองครับ

🌳1. Initiate - ริเริ่มลงมือทำ

ไม่ว่าจะทำหน้าที่การงานอะไร เวลาริเริ่มลงมือทำ เราอาจลองสังเกตเข้าไปในใจตนเองว่า ในใจเรากำลังเป็นอย่างไร

ตอบข้อใดข้อหนึ่ง หรือมากกว่า 1 ข้อ

🔲 มีใจรัก (ฉันทะ)

🔲 กล้า ขยัน (วิริยะ)

🔲 รับผิดชอบ (จิตตะ)

🔲 ชอบทดลอง (วิมังสา)

ตัวเลือกในการสังเกตใจชุดนี้ มีรากฐานมาจาก "อิทธิบาท ๔" ที่ความจริงแล้ว เริ่มที่ข้อใดก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วย "ฉันทะ" เสมอไป เริ่มต้นที่ข้อใดข้อหนึ่งก็จะนำไปสู่สมาธิได้เช่นกัน ดังนั้น เราจึงมีโอกาสทำงานสำเร็จได้ แม้ยังไม่มีฉันทะ ตามที่ ในสมัยพุทธกาล มีบุคคลตัวอย่างที่อาศัย อิทธิบาท บ่มเพาะความสำเร็จ (ทั้งด้านอภิญญา และด้านอาสวักขยญาณ) สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บางท่านเริ่มต้นด้วยฉันทะ และบางท่านไม่ได้เริ่มต้นด้วย "ฉันทะ" ดังนี้ ท่านพระรัฏฐปาลเถระ เริ่มต้นด้วยฉันทะ, ท่านพระโสณโกฬิวิสเถระ เริ่มต้นด้วยวิริยะ, ท่านพระสัมภูตเถระ เริ่มต้นด้วยจิตตะ และ ท่านพระโมฆราชเถระ เริ่มต้นด้วยวิมังสา

🌳2. Touch the Presence - ดำรงในปัจจุบัน

เมื่อเริ่มต้นได้แล้ว ให้สัมผัสความสุขเล็ก ๆ ระหว่างทาง สิ่งที่เกื้อกูลให้เกิดความสามารถนี้ คือการฝึกสติ บ่มเพาะสมาธิ เพื่อขยายความสามารถในการมองเห็นความสุขเล็ก ๆ ในระหว่างทาง

ขอแนะนำเครื่องมือ Presence เพื่อบันทึกเวลาการฝึกสติ บ่มเพาะสมาธิ โดยอาจจะฝึกครั้งละ 2-3 นาที ให้รู้สึกทำได้ง่าย ๆ ทำได้บ่อย ๆ



🌳3. Tune the Mind - ปรับใจให้เท่าทัน

ในแต่ละวันหมั่นสะท้อนตนเอง รวมถึงทบทวนเหตุปัจจัยที่จะเกื้อกูลให้เกิดความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาด้านในตนเอง

ตอบข้อใดข้อหนึ่ง หรือมากกว่า 1 ข้อ

🔲 Screen มีอะไรที่ควรระวังไม่ทำ

🔲 Stop มีอะไรที่ไม่เวิร์ค ควรหยุดทำ

🔲 Start มีอะไรที่ควรคิดใหม่ ทำใหม่

🔲 Stay มีอะไรที่ทำอยู่ ทำดีแล้ว ทำต่อไป

ชุดคำถามนี้ มีรากฐานมาจาก "ปธาน ๔" สิ่งที่น่าสนใจก็คือ "ปธาน ๔" นั้น เป็นส่วนประกอบสำคัญใน "อิทธิบาท ๔" 

เมื่อเราอธิบาย "อิทธิบาท ๔" แบบเต็ม ๆ จะพบว่า ประกอบไปด้วย

  • ฉันทสมาธิปธานสังขาร
  • วิริยสมาธิปธานสังขาร
  • จิตตสมาธิปธานสังขาร
  • วิมังสาสมาธิปธานสังขาร

จะเห็นว่ามีคำว่า "สมาธิ" และ "ปธาน" เป็นส่วนหนึ่งใน "อิทธิบาท ๔" ด้วย และถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ "อิทธิบาท ๔" เกิดความสมบูรณ์ กลายเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ

🌳4. Integrate - ร่วมกันบูรณาการ

ทบทวนบันทึก ทบทวนประสบการณ์ เรียบเรียงความรู้สึก ตกผลึกการเรียนรู้เป็นงานเขียน แล้วเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม "อินเนอร์ คอร์เนอร์"

ขอแนะนำเครื่องมือ Content เพื่อเผยแพร่งานเขียน และส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาด้านใน หรือ IDG

สรุป ITTI Learning Guideline คือ แนวทางการเรียนรู้เชิงประสบการณ์สู่ความสำเร็จ เป็นทั้งความสำเร็จที่ปลายทาง (End-state Goal) และความสำเร็จในปัจจุบัน (Process Goal) ประกอบด้วย

  1. ริเริ่มลงมือทำ - Initiate
  2. ดำรงอยู่ในปัจจุบัน - Touch the Presence
  3. ปรับใจให้เท่าทัน - Tune the Mind
  4. ร่วมกันบูรณาการ - Integrate

ผู้ที่อ่านแล้วสนใจนำไปใช้เพื่อเรียนรู้ด้านในตนเอง สามารถดาวน์โหลดไฟล์สมุดบันทึก Inner Corner Journaling ได้ที่นี่ครับ

https://drive.google.com/file/d/1FFTBkHB1O7xDv5VMu6kcPKdYEFNF_y-u/view?usp=sharing

และขอเชื้อเชิญเพื่อน ๆ สมัครเป็นสมาชิก "อินเนอร์ คอร์เนอร์" เพื่อใช้เครื่องมือ "Presence" และ "Content" เกื้อกูลให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องนะครับ

--- รัน ธีรัญญ์ 

.

อ้างอิง: ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร. 2567. สันตินวัตกรรมการส่งเสริม "เป้าหมายการพัฒนาด้านใน" ผ่านแพลตฟอร์ม "อินเนอร์ คอร์เนอร์" [วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

หลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

Run Wisdom วิทยากร กระบวนกร ที่ปรึกษา
Since:
Update:

Read : 769 times