เรามีความสุขเมื่อคนที่เรารักมีความสุข และเราจะทุกข์เช่นกันเมื่อคนที่เรารักมีความทุกข์ สิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำ ล้วนเชื่อมโยงถึงกัน ความสุขความทุกข์จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นของสาธารณะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ความรู้สึกในใจของเรา จะแปรเปลี่ยนไปได้อยู่เสมอ แม้เราจะพยายามทำให้มันมั่นคงเพียงใดก็ตาม
มันเป็นไปได้ไหม ที่เราจะมีความสุข ในแบบใหม่ ที่มีความสงบศานติ มั่นคงภายใน แม้เปิดรับความจริงที่แปรเปลี่ยนอยู่เสมอ
ความจริงที่ว่านี้ คือ ความจริงของโลกใบใหญ่ เมื่อเราเป็นอิสระจากตัวตนที่แบ่งแยก ความสุข-ความทุกข์กลายเป็นของสาธารณะ ในช่วงที่เราเปิดรับโลกใบใหญ่เช่นนี้ เราอาจไม่ได้สบายใจนัก เพราะความจริงเช่นนี้ มันอาจไปรบกวนโลกใบเล็กของเรา
ในวันหนึ่งที่ผมเกิดความไม่สบายใจ เนื่องจากการเปิดรับความจริงว่าคนที่ผมรักกำลังมีความทุกข์ บ้างก็ทุกข์จากเศรษฐกิจปากท้อง บ้างก็ทุกข์จากความเจ็บป่วย บ้างก็ทุกข์จากสงคราม ผมอาจเลือกทำได้ 2 ทาง คือ การบิดเบือนความจริง กลบความทุกข์ใจเอาไว้ก่อน หรือเปิดรับเพื่อเรียนรู้จากความจริงที่เกิดขึ้น
ในวันเดียวกันนั้นเอง ผมได้อ่านเรื่องเล่าของหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ โดยเรื่องเล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของบทสุดท้ายในหนังสือ "สามเณร: เรื่องราวของรักแท้"
ตอนหนึ่งหลวงปู่เล่าว่า...
"เมื่อหลายปีก่อนฉันมีกุฏิอยู่กลางป่า จากปารีสนั่งรถยนต์ไปราว ๆ สองชั่วโมง เช้าวันหนึ่งฉันออกจากกุฏิเพื่อไปเดินในป่าและใช้เวลาอยู่ที่นั่นทั้งวัน ฉันเพล นั่งเจริญสติ และเขียนบทกวี ตอนเช้าทุกอย่างสวยงามอย่างยิ่ง แต่พอตกบ่ายฉันสังเกตเห็นเมฆรวมตัว ลมเริ่มพัด ฉันจึงเดินกลับ พอมาถึงกุฏิทุกอย่างเละเทะไปหมด เพราะเช้าวันนั้นฉันเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้เพื่อรับแสงแดด ระหว่างที่ฉันไม่อยู่ลมพัดแผ่นกระดาษบนโต๊ะเขียนหนังสือกระจัดกระจาย กุฏิอ้างว้างเยียบเย็น
สิ่งแรกที่ฉันทำคือปิดประตู หน้าต่าง สิ่งที่สองคือก่อไฟ พอไฟเริ่มลุกโชน เสียงลมกลายเป็นเสียงที่น่าฟังอย่างยิ่ง ฉันรู้สึกดีขึ้นมาก ๆ สิ่งที่สามที่ฉันทำก็คือเก็บกระดาษที่กระจัดกระจายวางไว้บนโต๊ะ ใช้ก้อนหินทับไว้ ฉันใช้เวลายี่สิบนาทีทำทุกอย่างเหล่านี้ สุดท้ายฉันนั่งลงใกล้ ๆ เตาฟืน กุฏิอุ่นขึ้น น่าอยู่ แล้วฉันก็รู้สึกสบายอยู่ในกุฏินั้น"
หลังจากอ่านเรื่องเล่านี้ จิตใจของผมค่อย ๆ กลับมามั่นคง และเห็นถึงกระบวนการด้านในจิตใจที่แฝงอยู่ในเรื่องเล่า ร่วมกับความเข้าใจที่ได้ทดลองปฏิบัติกับตัวเอง จึงขอแบ่งปันเป็น 3 ข้อ ดังนี้ครับ
หากเราเปิดรับข้อมูลข่าวสารอยู่มากมายยาวนานเกินไป อาจถึงเวลาที่เราจะได้พักการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอกลง
การจะเลือกรับข้อมูลข่าวสาร อาหารการกินที่เหมาะสม เราจำเป็นต้องใช้สติ นี่คือสติในชีวิตประจำวัน
ลมช่วยให้ไฟรุกโชนขึ้นได้ ลมหายใจของเราก็ช่วยให้ใจของเราอบอุ่นขึ้นได้เช่นเดียวกัน การกลับมารู้ลมหายใจของเรา ช่วยให้เราผ่อนคลาย และเป็นเหมือนแสงไฟในใจที่ช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างคมชัดมากขึ้นในวันที่มืดมน
การโฟกัสที่ลมหายใจ คือ หนึ่งในวิธีที่ทำให้เรามีสมาธิ สงบนิ่งให้ตะกอนในน้ำได้ทิ้งตัวลง น้ำก็จะใสมากพอที่เราจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ตรงตามจริง
การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกขอบคุณ เมื่อเราขอบคุณได้ เราจะสามารถแปรเปลี่ยนสถานการณ์ที่ยากลำยากให้กลายเป็นบทเรียน การพูดและการลงมือทำในช่วงนี้ก็จะกลับมามีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง
เราจะเห็นการแปรเปลี่ยนไป และรู้สึกขอบคุณบางอย่างได้ ก็เมื่อตะกอนในน้ำได้ทิ้งตัวลง นี่คือการมีสมาธิ จะเกิดความกลมเกลียวภายในจิตใจ น้ำจะใสมากพอให้เราเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามจริง นี่คือปัญญา ที่เกิดจากการเปิดรับความจริงได้ เราเองเท่านั้นที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้เองได้ ดอกบัวที่สะอาดเกิดจากโคลนตมที่สกปรก เราจะขอบคุณโคลนตมได้อย่างไร หากยังไม่เห็นดอกบัว สิ่งเหล่านี้ย่อมต้องใช้เวลา บางเรื่องเราจะขอบคุณได้ บางเรื่องยังรอการเรียนรู้ ความสามารถแบบนี้ คือ ปัญญา
เมื่อใจของเราพร้อมที่จะใคร่ครวญเพื่อเรียบเรียงเรื่องราว ก็เหมือนสามารถหลบฝนเข้ามาอยู่ในร่ม แม้ฝนยังไม่หยุดตกภายนอก แต่เราก็จะสามารถมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อใจกลับสู่บ้านคือกายของเราได้อย่างมั่นคงดีแล้ว จึงปล่อยให้ใจได้ใคร่ครวญอีกครั้ง
การพาใจกลับสู่บ้านที่แท้จริง ไม่เพียงแต่จะทำในเวลาที่ไม่สบายใจเท่านั้น เราสามารถบ่มเพาะได้ทุกขณะด้วยการรู้ลมหายใจ ใจจะกลับสู่บ้านคือกายของเรานี่เอง ผ่อนพักตระหนักรู้ ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องรอคอยอะไร
พาใจกลับสู่บ้านที่แท้จริง
ณ ที่นี่ และขณะนี้
🔔
--- รัน ธีรัญญ์
Inspired by ติช นัท ฮันห์. (2556). "สามเณร: เรื่องราวของรักแท้". กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์