บันทึกจาก Oxford: บทที่ 8 Motivation and Goal Achievements

วันนี้เรียนหัวข้อ Motivation and Goal Achievements
Feb 2, 2024

บทความนี้ คือ บันทึกการเรียนรู้จาก Oxford, UK
เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตร Oxford Positive Psychology

เป้าหมายเป็นเหมือนหมุดหมายปลายทางบนแผนที่ ในขณะที่คุณค่าเป็นเหมือนพวงมาลัยของเรือที่เชื่อมโยงสู่หางเสือเรือที่ใต้ท้องเรือ อุปมาเฉกเช่นเดียวกับคุณค่าที่สามารถสัมผัสได้ที่ก้นบึ้งของจิตใจ ในขณะที่การเดินทางไปสู่เป้าหมาย ช่วยให้การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ให้เราเขียนเป้าหมายที่ต้องการให้ได้มากที่สุด จากนั้นพิจารณาว่า เป้าหมายที่เราเขียนเข้าข่ายความหมายของเป้าหมายแบบใดบ้าง ดังต่อไปนี้

  • short-term หรือ long-term 
  • approach หรือ avoidance 
  • performance หรือ learning 
  • nonspecific หรือ specific 
  • end-state หรือ process 

วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ของเป้าหมายแต่ละแบบ จากนั้น พิจารณาปรับเปลี่ยนเป้าหมายให้ลงตัวมากยิ่งขึ้น

เป้าหมายที่ผมเขียนไว้ เช่น วิ่ง 10 km pace 6-7, ผ่อนบ้านหมด, ซื้อบ้านใหม่, มีรายได้แบบ Passive, พัฒนาแพลตฟอร์ม Inner Corner ให้มีสมาชิกที่ใช้ประจำมากกว่า 2,000 คน, ไปจัดฝึกอบรมที่ต่างประเทศโดยใช้ภาษาอังกฤษ ฯลฯ

หลังจากเขียนเป้าหมาย ผมพบว่าสามารถจัดกลุ่มเป้าหมายได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ Health, Financial, Contribution, Connectedness, Spirituality และเห็นภาพของกลุ่มชุมชนต่าง ๆ ที่เกื้อกูลในการเดินทางสู่เป้าหมายของกันและกัน

Goal Focus Analysis

สมดุลระหว่าง Insufcient goal focus (ละเลยเป้าหมาย) และ Excessive goal focus ( มุ่งเป้าหมายมากเกินไป) คือ Mindful goal focus คือ ต้องเห็นทั้งภาพเป้าหมายในอนาคตและเห็นความเป็นจริงในปัจจุบันด้วย

Self-efficacy Cycle

ถ้าเราเพิ่มความเชื่อว่าเราทำได้ เราจะกล้าตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย เมื่อทำสำเร็จ ก็จะเกิดผลลัพธ์ที่ดี เป็นหลักฐานว่าเราทำได้จริง ความเชื่อว่าทำได้ก็จะเพิ่มขึ้น วนไปแบบนี้ เรียกว่า Self-efficacy Cycle โดยแนวทางในการเพิ่ม Self-efficacy คือ การก้าวเล็ก ๆ ให้สำเร็จได้ง่าย ๆ พอสำเร็จก็ฉลองเล็ก ๆ โดยมีคนคอยยอมรับชื่นชม และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้อง

Self-concordance model of goal setting

เป้าหมายที่มีความสอดคล้องกับด้านในตนเอง (Self-concordance Goal) จะมุ่งเน้นที่ปัจจุบันมากกว่าอนาคต และจะรู้สึกเป็นอิสระในการเป็นผู้เลือกที่จะลงมือทำ (Autonomy, Freedom) โดยสามารถแบ่งเป็น 4 ระดับ

ระดับที่ 1 Intrinsic Motivation

แรงจูงใจในเป้าหมายที่เราสนใจและมีความสามารถเพียงพอที่จะทำได้ รู้สึกมีความสุขในระหว่างที่ทำ (Process Enjoyment) เกิดสภาวะไหลลื่น (Flow State) รู้สึกมีอิสระในการเป็นผู้เลือกที่จะทำมากที่สุด (Autonomy) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Mental Need ที่เกื้อกูลสุขภาวะในการทำงาน

ระดับที่ 2 Identified Motivation

แรงจูงใจในเป้าหมายที่สอดคล้องกับคุณค่าในจิตใจ ให้เราคิดถึงภาพเป้าหมาย แล้วพิจารณาว่ามีอุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเขียนเหตุผลว่าอะไรที่ทำให้เราอยากบรรลุเป้าหมายนี้ จากนั้นให้ค้นหาคุณค่าที่ตรงกับเหตุผลที่เขียน โดยเลือกจากรายการคุณค่า จำนวน 124 คำ

ระดับที่ 3 Introjected Motivation

แรงจูงใจในเป้าหมายที่ทำให้ตัวเองดูมีค่า พอกพูนตัวตน เติมความพร่อง หลีกเลี่ยงความกลัว ความรู้สึกผิด การถูกปฏิเสธ การไม่ยอมรับจากตนเองและผู้อื่น (disapproval from self or others)

ระดับที่ 4 External Motivation

แรงจูงใจในเป้าหมายที่ทำเพื่อให้ได้รับรางวัล หรือหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ เป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง ขาดอิสระในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม การให้รางวัลเล็ก ๆ กับตัวเอง ในความสำเร็จเล็ก ๆ ระหว่างทาง จะช่วยให้เราทำซ้ำ ๆ ได้ จนเกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ ความสามารถใหม่ และนำไปสู่การยกระดับแรงจูงใจได้เช่นกัน

โดยแรงจูงใจในระดับที่ 1 คือ แรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic Motivation) และแรงจูงใจในระดับที่ 2-4 คือแรงจูงใจจากภายนอก (Extrinsic Motivation) รวมถึงเราสามารถเรียกแรงจูงใจในระดับที่ 1-2 ได้ว่า เป็นแรงจูงใจในเป้าหมายที่มีความสอดคล้องกับด้านในตนเอง (Self-concordance Goal)

ในหลักสูตรนี้ เป้าหมายสำเร็จได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ได้แก่ คุณค่าที่ช่วยให้เรามีทิศทางที่ใช่ จุดแข็งที่ช่วยให้เราเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเหมาะสม รวมถึงความสัมพันธ์เชิงบวกที่สนับสนุน ดังนั้น ความสำเร็จของเรา จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรือเป็นเพียงความสำเร็จที่ปลายทาง แต่ยังรวมถึงความสำเร็จระหว่างทาง ที่เราประครองความสมดุลของการเดินทาง ให้เกิดสุขภาวะที่ดีทั้งกับตนเอง คนรอบข้าง สังคม และโลกของเรา

--- รัน ธีรัญญ์

ส่วนหนึ่งในหลักสูตร Oxford Positive Psychology
อำนวยการสอน โดย Dr.W Md Rayman
และผู้เชี่ยวชาญจาก University of Oxford

สถานที่: St Hugh's College, University of Oxford

Run Wisdom วิทยากร กระบวนกร ที่ปรึกษา โค้ชผู้บริหาร
เขียน 02 ก.พ. 2567 03:57
ปรับแก้ 26 ก.พ. 2567 23:45