รูปแบบความผูกพัน - Attachment Styles

หนึ่งในเนื้อหาทางจิตวิทยา ที่ช่วยให้ผู้เรียน "เห็นทุกข์ ในอริยสัจ 4" คือ เรียนแล้ว มักจะเอ่ยปากว่า ยอมรับสภาพปัจจุบัน และอยากเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก นั่นคือเรื่อง รูปแบบความผูกพัน (Attachment Styles)
.
รูปแบบความผูกพัน (Attachment Styles) ช่วยให้ได้เห็น พฤติกรรมของคนใกล้ตัว เช่น ลูก หลาน หรือคนรัก จึงเริ่มเปิดใจเห็นพฤติกรรมของตนเองได้ง่ายขึ้น โดยในทฤษฎีนี้ ชวนให้สังเกตว่า เราและคนรักของเรา อาจเป็นแบบไหน ใน 4 แบบต่อไปนี้
.

🔵1. มั่นคง (Secure)

.
มองตัวเองและคนอื่นทางบวก มีความมั่นคงในใจ พึงพอใจในตนเอง เข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง แสดงความรู้สึก กล้าพึ่งพาคนอื่น และพร้อมให้คนอื่นพึ่งพาได้
.
แนวโน้มจากวัยเด็ก มีความวางใจผู้ปกครอง กล้าสำรวจเรียนรู้ด้วยตนเอง (Secure) ถ้าผู้ปกครองจากไป อาจไม่สบายใจบ้างแต่ก็พอรับได้ ถ้าผู้ปกครองให้ความรักที่อบอุ่น พอเหมาะพอดี สม่ำเสมอพอสมควร เด็กโตมาอาจมีรูปแบบความผูกพันเช่นนี้ได้
.

🔵2. หมกมุ่น (Preoccupied)

.
มองตัวเองทางลบ มองคนอื่นทางบวก โหยหาการพึ่งพาคนอื่น แต่ก็กลัวสูญเสียความสัมพันธ์ ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง หึงหวงง่าย อยู่คนเดียวแล้วไม่มีความสุข ต้องการการรับรองจากผู้อื่น
.
แนวโน้มจากวัยเด็ก มักเกาะติดผู้ปกครอง และต่อต้านเมื่อผู้ปกครองจากไป (Resistant) ถ้าผู้ปกครองประคบประหงมมาก แบบเอาใจสุด ๆ แล้วจากไปทันที จะทำให้เด็กเคว้ง เด็กโตมาอาจจะมีรูปแบบความผูกพันเช่นนี้ได้
.

🔵3. หมางเมิน (Dismissing)

.
มองตัวเองทางบวก มองคนอื่นทางลบ ไม่อยากพึ่งพาใคร และก็ไม่อยากให้ใครมาพึ่งพา ไม่ชอบแสดงความรู้สึก ดูเย็นชา เหินห่าง มักมีความสัมพันธ์ระยะสั้น และเป็นแบบผิวเผิน
.
แนวโน้มจากวัยเด็ก มักเพิกเฉย ไม่สนใจว่าผู้ปกครองจะอยู่หรือไม่ (Avoidance) ถ้าผู้ปกครองขาดการรับฟัง ไม่เข้าใจความรู้สึก พร่ำสอนแต่หลักการชีวิต แต่ขาดการเล่น การให้ความรัก ความอบอุ่น เด็กโตมาอาจจะมีรูปแบบความผูกพันเช่นนี้ได้
.

🔵4. หวาดกลัว (Fearful)

.
มองตัวเองและคนอื่นทางลบ จึงทั้งวิตกกังวลและหมางเมิน หวาดผวาเมื่อมีความสัมพันธ์ ไม่ใส่ใจความรู้สึก และไม่เชื่อใจใครด้วย จึงกลัวทั้งความใกล้ชิด และกลัวการถูกปฏิเสธ
.
แนวโน้มจากวัยเด็ก มักมีความสับสน ต้องการอยู่ใกล้ผู้ปกครองแต่ก็ไม่กล้าเคลื่อนตัวเข้าใกล้ (Disorganize) ถ้าผู้ปกครองให้ความรักบ้าง แต่ก็สร้างความกลัวมาก แบบ 3 วันดี 4 วันร้าย เมื่อเด็กถูกทำร้ายจิตใจหรือร่างกาย โตมาอาจจะมีรูปแบบความผูกพันเช่นนี้ได้
.
.

การสะท้อนตนเอง (Self-reflection)

.
มนุษย์มีตัวตนที่แท้จริงอยู่อย่างหนึ่ง (Real Self) แต่อยากจะเป็นอีกแบบหนึ่ง (Ideal Self) จึงมีกระบวนการบิดเบือน สิ่งที่พูดออกมาเกี่ยวตนเอง อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เสมือนกระจกส่องใจมืดมัว เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดความคุ้นชิน คิดว่าตัวตนในจินตนาการ คือ ความจริง
.
ประกอบกับความปลอดภัยทางใจ (Psychological Safety) จากสังคมรอบตัวมีไม่เพียงพอ จึงเกิดความกลัว การย้อนมองดูตัวเอง หรือเรียกว่า การสะท้อนตนเอง (Self-reflection) จะทำได้ไม่ง่ายเลย
.
การมองเห็นตัวเอง ผ่านรูปแบบความผูกพัน (Attachment Style) เห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดรูปแบบความผูกพันต่าง ๆ จะทำให้เกิดการผ่อนคลายจากการปกป้องตัวตน ทำให้ยอมรับตามจริง เห็นตัวเอง (Self-awareness) และเริ่มต้นอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายในตนเอง
.
การบ่มเพาะสติ ผ่อนคลายจากการยึดติดในตัวตน และการอยู่ในสังคมที่มีความปลอดภัยทางใจ คือ ไม่ตัดสิน ให้พื้นที่เรียนรู้ (เราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ 100% ในวันนี้) จะช่วยให้การพัฒนาตนเองในด้าน Soft Skills ทั้งหมด ทำได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้นครับ
.
--- รัน ธีรัญญ์
Run Wisdom วิทยากร กระบวนกร ที่ปรึกษา โค้ชผู้บริหาร
เขียน 10 ก.ค. 2566 17:48
ปรับแก้ 25 ก.ค. 2566 21:09