เป้าหมายการพัฒนาภายใน (Inner Development Goals) ทักษะการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

Inner Development Goals (IDGs) หรือเป้าหมายการพัฒนาภายในคืออะไร ที่มาที่ไป และความสำคัญ

 

เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความล้มเหลวทางสถาบัน (Institutional) ครั้งใหญ่ ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของการแบ่งแยกระหว่างระบบนิเวศ (Ecological Divide หมายถึง เราขาดการเชื่อมโยงกับระบบนิเวศ) สังคม (Social Divide หมายถึง เราขาดการเชื่อมโยงกับผู้อื่น) และจิตวิญญาน (Spititual Divide หมายถึง เราขาดการเชื่อมโยงกับศักยภาพสูงสุดของตนเอง) และทั้งหมดนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ (Symptoms) ที่ไม่มีใครต้องการ (No One Wants) ต่างๆ อย่างมากมาย แบ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ทาง Spititual Divide ไม่ว่าจะเป็น ภาวะหมดไฟ หดหู่ ซึมเศร้า ทำร้ายร่างกายตัวเอง ฆ่าตัวตาย ไม่มีความสุข การลาออกจากงานครั้งใหญ่ ไร้จุดมุ่งหมายในชีวิต ฯลฯ

 

 

ทาง Social Divide ไม่ว่าจะเป็น ความยากจน ความอดอยาก ความไม่มั่นคงทางอาหาร การศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ความขัดแย้ง ความรุนแรง สงคราม กราดยิง ช่องว่างระหว่างวัย ความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ โครงสร้างพื้นฐาน คอรัปชั่น ผู้ลี้ภัย การจ้างงาน ฯลฯ

 

 

ทาง Ecological Divide ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกเดือด) น้ำแข็งละลาย น้ำท่วม ไฟป่า มิลพิษทางอากาศ พายุ ดินเสื่อมสภาพ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำไม่สะอาด ขยะ ฯลฯ

 

 

ประกอบกับโลกในช่วงปี 2002 เป็นต้นมา ได้มีการนำเอาคำว่า VUCA World มาใช้ในการอธิบายความหมายกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

 

 

V — Volatility: สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมมีความผันผวน เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน และไม่ทันได้ตั้งตัว

U — Uncertainty: สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมมีความไม่แน่นอน คาดการณ์ได้ยาก และยากจะอธิบาย

C — Complexity: สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมมีความซับซ้อน มีปัจจัยหรือตัวแปรมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงถึงกันอย่างเป็นระบบ และยากจะทำความเข้าใจ

A — Ambiguity: สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมมีความคลุมเครือ เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน และไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้

ส่งผลให้ความท้าทายที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ทวีความรุนแรงกว่าเมื่อก่อนหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า โลกในอนาคตต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร คำว่า VUCA World จะยังคงนำมาใช้อธิบายความหมายต่อไปได้หรือไม่

ในปี 2020 Jamais Cascio นักมานุษยวิทยา นักเขียน และนักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้นำเสนอและอธิบายความหมายของโลกในอนาคตต่อจากนี้ว่า BANI World ซึ่งเป็นมากกว่าการมองแค่สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของโลก แต่มองไปถึงผลกระทบต่ออารมณ์หรือพฤติกรรมของผู้คนด้วย

 

 

B — Brittle: มีความเปราะบาง มีความอ่อนไหวต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่มีรากฐานแข็งแรงกลับต้องปิดกิจการแบบไม่ทันคาดคิด เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และดิสรัปชั่น คนที่ได้รับค่าแรง 300 บาทต่อวัน เมื่อเดือนที่แล้วได้รับประทานอาหาร 3 มื้อต่อวัน แต่เดือนนี้กลับได้รับประทานอาหาร 2 มื้อต่อวัน เนื่องจากค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น คนที่พักอาศัยอยู่ริมทะเล อาจสูญเสียที่อยู่อาศัยหรือกลายเป็นผู้ลี้ภัย เนื่องจากระดับน้ำทะเลพุ่งสูงขึ้นและความรุนแรงจากภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ฯลฯ

A — Anxious: มีความวิตกกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ลังเล เครียดง่าย ชะงักงัน กลัวความล้มเหลว ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มั่นใจกับอนาคต ซึมเศร้า หมดไฟในการทำงาน และสิ้นหวัง ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบให้เกษตรคาดการณ์ผลผลิตได้ยากขึ้น เนื่องจากฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ดินเสื่อมสภาพ และน้ำแล้ง ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมด้านความมั่นคงทางอาหาร การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนมุ่งเน้นไปที่ความพึงพอใจส่วนตัวมากกว่าความถูกต้อง การหลอกลวง ข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือน ภัยคุกคามทางไซเบอร์ วิทยาศาสตร์เทียม การปรับตัวกับรูปแบบการทำงานที่ไม่หยุดนิ่งและการเข้ามาของ ChatGPT การรับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวตามโลกไม่ทันหรือกลัวถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ฯลฯ

N — Nonlinear: มีความไม่เป็นเส้นตรง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวขาดการเชื่อมต่อกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล และสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ อาจนำไปสู่ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ได้ ตัวอย่างเช่น เสียบปลิ๊กไฟค้างไว้อยู่ที่บ้าน อาจส่งผลกระทบให้น้ำแข็งที่กรีนแลนด์ละลายได้ การระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วงไม่กี่เดือน โรงงานแห่งหนึ่งในเอเชียปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อาจส่งผลกระทบให้หลายประเทศในยุโรปเกิดคลื่นความร้อนและอุณหภูมิสูงขึ้นได้ (บางประเทศในยุโรปเพิ่งมีน้ำแข็งขาย) ความโกลาหนจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่ทันได้คาดคิด ความไม่สมเหตุสมผลในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองระหว่างประเทศ ฯลฯ

I — Incomprehensible: มีความไม่เป็นเหตุเป็นผล แม้จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย แต่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นเหล่านั้นกลับไม่ได้ช่วยให้เราเกิดความเข้าใจได้มากขึ้น กลายเป็นว่ายิ่งเราพยายามหาข้อมูลข่าวสารมากขึ้นเท่าไหร่กลับเหมือนรู้น้อยลง และท้ายที่สุดอาจกลายเป็นการสร้างความสับสน และเป็นกรอบจำกัดความคิด ตัวอย่างเช่น เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการทำงานของระบบอัลกอริทึมนั้นประมวลผลอย่างไรและทำไมถึงนำไปสู่การเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และเหยียดเพศได้ กระแสของ Metaverse ที่ดิ่งลงอย่างไร้เหตุผล ฯลฯ

ดังนั้น จากความล้มเหลวทางสถาบันครั้งใหญ่และ BANI World นี้ เราควรปรับตัว เปลี่ยนแปลงตัวเอง และยกระดับขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?

ย้อนกลับไปในวันที่ 25 กันยายน ปี 2015

 

 

องค์การสหประชาชาติได้นำเสนอวาระการพัฒนา 2030 ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยกำหนดกรอบระยะเวลาในการบรรลุไว้ภายในปี 2030 ให้ทั่วโลกได้รับทราบและได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (รวมประเทศไทย)

 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนา (ทุกมิติ) ที่ตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบันและไม่ส่งผลกระทบหรือบั่นทอนต่อคนรุ่นหลังที่กำลังจะตามมา โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

 

โดยกระบวนการได้มาของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากคนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนานาชาติไปจนถึงระดับปัจเจกชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม จากรายงานของเครือข่ายนักวิชาการทำงานเพื่อสนับสนุนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าจะผ่านมาแล้วครึ่งทาง แต่การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอด 8 ปีที่ผ่านมานั้นมีความล่าช้า โลกยังไม่บรรลุเป้าหมายใดเลยและกำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียทศวรรษแห่งความก้าวหน้า

 

 

 

 

 

และจากรายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระบุว่า ในเอเชียและแปซิฟิกต้องใช้เวลาอีก 42 ปี จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

 

 

และเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ได้สื่อสารผ่าน Secretary-General’s Press Conference ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า ขณะนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว เรากำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด

 

 

ดังนั้น เรามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกและขยายขีดความสามารถในการทำงานของเรากับความท้าทายเชิงระบบให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น [Our Big Why]

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ไม่ว่าท่านจะอยู่ในบทบาทไหน (ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม) อยากชวนท่านใช้เวลาสักครู่ ทบทวนการทำงานและจุดมุ่งหมายของตัวเองตลอดช่วงที่ผ่านมาว่า [Reflection Questions]

 

  • ท่านกำลังอยู่บนเส้นทางการขับเคลื่อน / การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ‘ใช่หรือไม่’
  • สิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่ตอนนี้ มีส่วนช่วยให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2030 ‘ใช่หรือไม่’
  • ท่านกำลังเร่งสร้างผลกระทบเชิงบวกจากโครงการหรืองานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ ‘ใช่หรือไม่’
  • ท่านคิดว่าชุดทักษะที่มีอยู่ในตอนนี้ ไม่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายแห่งยุค (BANI World) ได้อย่างเพียงพอ ‘ใช่หรือไม่’
  • ท่านเป็นผู้ที่อยากใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมาย ยั่งยืน และมีประสิทธิผล ‘ใช่หรือไม่’

 

หากมีคำตอบ ‘ใช่’ ข้อใดข้อหนึ่ง ท่านไม่ควรพลาดข้อความต่อจากนี้

 

จุดเริ่มต้นของเป้าหมายการพัฒนาภายใน (Inner Development Goals)

 

What qualities, abilities or skills do we need to develop to build a sustainable future for people and planet? [One Big Question]

 

เป้าหมายการพัฒนาภายใน คือ Blueprint ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถ คุณภาพ และทักษะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Skills) ที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือเรียกในอีกแง่มุมหนึ่งคือทักษะที่จำเป็นต่อการจัดการความท้าทายทั้งหมดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่

 

 

ซึ่งผ่านการทำงานวิจัย (ร่วมกับนักวิทยาศาตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักปฏิบัติ มากกว่า 4,000 คน) สำรวจจากผู้คนทั่วโลก (ใน Phase 3 Global Survey มากกว่า 100,000 คน จาก 100 กว่าประเทศ อาทิ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กร โค้ช ผู้จัดการด้านความยั่งยืน ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ผู้ประกอบการเพื่อสังคม นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ พนักงาน ฯลฯ) ทบทวน และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่างมากมาย เช่น Amy C. Edmondson, Jennifer Garvey Berger, Robert Kegan, Otto Scahrmer, Peter Senge และ Daniel J. Siegel

 

 

ริเริ่มตั้งแต่ปี 2019 โดย Te New Division × 29k × Ekskäret Foundation และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 เมษายน ปี 2022 (IDG Summit 2022) ร่วมกับ Academic Partners × Institutional Partners × Collaborating Partners

 

 

 

โดยแบ่งออกเป็น 23 ทักษะ 5 มิติ ดังนี้

 

 

มิติที่ 1 BeingRelationship to Self การปลูกฝังชีวิตภายในและการพัฒนาความสัมพันธ์ของเรากับความคิด ความรู้สึก และร่างกาย ซึ่งช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมาย และไม่ตอบสนองอย่างรวดเร็วเมื่อเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน

Inner Compass คือ มีความรู้สึกอย่างลึกซึ้งถึงความรับผิดชอบ คำมั่นสัญญาต่อค่านิยม และจุดมุ่งหมายที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของส่วนรวม

Integrity and Authenticity คือ มีคำมั่นสัญญาและความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยความจริงแท้ต่อตนเอง เปิดเผย และซื่อสัตย์สุจริต

Openness and Learning Mindset คือ มีชุดความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับความอยากรู้อยากเห็น เปิดกว้าง และเปิดรับการเปลี่ยนแปลงและการเติบโต

Self-Awareness คือ มีความสามารถในการสะท้อนความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตนเอง รวมถึงความสามารถในการควบคุมตนเอง

Presence คือ มีความสามารถในการอยู่กับปัจจุบัน ปราศจากการตัดสิน และอยู่ในสถานะที่เปิดกว้าง

 

 

มิติที่ 2 ThinkingCognitive Skills พัฒนาทักษะการคิดโดยใช้มุมมองที่แตกต่างกัน การประเมินข้อมูล และการทำความเข้าใจโลกที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นสิ่งที่สำคัญในการตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด

Critical Thinking คือ มีทักษะในการตรวจสอบหรือทบทวนความถูกต้องของความ คิดเห็น หลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ

Complexity Awareness คือ มีความเข้าใจและมีทักษะในการทำงานกับเงื่อนไขและสาเหตุที่ซับซ้อนอย่างเป็นระบบ

Perspective Skills คือ มีทักษะในการใฝ่หา การทำความเข้าใจ และการใช้ข้อมูลเชิงลึกจากมุมมองที่แตกต่างกัน

Sense-Making คือ มีทักษะในการมองเห็นรูปแบบของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น โครงการของสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน และสามารถสร้างผลลัพธ์ใหม่ได้อย่างรู้ตัวทั่วพร้อม

Long-term orientation and Visioning คือ มีการมองอนาคตระยะยาวและยังคงไว้ซึ่งความสามารถในการกำหนดวิสัยทัศน์ในบริบทที่กว้างใหญ่ขึ้น

 

 

มิติที่ 3 RelatingCaring for Others and The World การชื่นชม (เล็งเห็นคุณค่า) ใส่ใจ และความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่น เช่น เพื่อนบ้าน คนรุ่นหลัง ระบบนิเวศที่ช่วยให้เราสร้างระบบสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยุติธรรมและยั่งยืนสำหรับทุกคน

Appreciation คือ มีความสัมพันธ์กับผู้คนและโลกด้วยพื้นฐานของความรู้สึกชื่นชม (เล็งเห็นคุณค่า) ขอบคุณ และความสุข

Connectedness มีความรู้สึกถึงความเชื่อมโยงและตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เช่น ชุมชน มนุษยชาติ หรือระบบนิเวศทั่วโลก

Humility คือ มีความสามารถในการปฏิบัติตามความต้องการของสถานการณ์ โดยไม่กังวลถึงความสำคัญของตนเอง

Empathy and Compassion คือ มีความสามารถในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น ตนเอง และธรรมชาติด้วยความเมตตากรุณาและความเห็นอกเห็นใจเพื่อเข้าไปจัดการกับความทุกข์ที่เกี่ยวข้อง

 

 

มิติที่ 4 Collaborating Social Skills เพื่อสร้างความก้าวหน้าในการจัดการกับความท้าทายที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ร่วมกัน เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ เปิดรับความหลากหลาย เท่าเทียม ครอบคุลม และเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

Communication Skills คือ มีความสามารถในการรับฟังผู้อื่นอย่างแท้จริง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยอย่างจริงใจ ให้ทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเอง จัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ และปรับการสื่อสารให้เข้ากับความหลากหลายของผู้คน กลุ่ม และบริบท

Co-Creation Skills คือ มีทักษะและแรงจูงใจในการพัฒนาและสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายระดับ โดยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจเพื่อสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ร่วมกันอย่างแท้จริง

Inclusive Mindset and Intercultural Competence คือ มีความเต็มใจและความสามารถในการยอมรับความหลากหลายของผู้คน รวมถึงกลุ่มคนที่มีมุมมองและภูมิหลังที่แตกต่างกัน

Trust คือ มีความสามารถในการแสดงความไว้วางใจ สร้าง และรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจต่อผู้อื่น

Mobilization Skills คือ มีทักษะในการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น Greta Thunberg ขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

 

มิติที่ 5 ActingDriving Change คุณสมบัติ เช่น ความกล้าหาญและการมองโลกในแง่ดีช่วยให้เรามีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง ละทิ้งรูปแบบเดิม และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้ด้วยความพากเพียร

Courage มีความสามารถในการยืนหยัดต่อค่านิยมของตัวเอง ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการเลิกยึดถือบางสิ่งบางอย่างที่ฝังลึก หากสิ่งนั้นไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

Creativity คือ มีความสามารถในการสร้างและพัฒนาความคิดดั้งเดิมหรือสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้า โดยการสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ และเต็มใจที่จะละทิ้งรูปแบบเดิม

Optimism คือ มีความสามารถในการคงไว้ซึ่งความหวัง ทัศนคติเชิงบวก ความเป็นไปได้ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้ได้อย่างมีความหมาย

Perseverance คือ มีความสามารถในการคงไว้ซึ่งความมุ่งมั่น อดทน แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาและความพยายามยาวนานกว่าจะเกิดผล

 

 

สรุป เป้าหมายการพัฒนาภายในจึงถือเป็นชุดทักษะที่สำคัญแห่งยุคสมัย ขีดความสามารถของเราในการขับเคลื่อน และภาวะผู้นำระดับโลก (Global Leadership) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ทั้ง 17 เป้าหมาย) ภายในปี 2030 โดยการย้อนกลับเข้ามามองมิติภายในของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกตัว (Conciousness) ส่วนบุคคลและส่วนรวม ความตระหนักรู้ ความรู้ ชุดความคิด ชุดความเชื่อ ค่านิยม โลกทัศน์ อารมณ์ และความสัมพันธ์ (ต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และต่องาน) ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอก (ชุดพฤติกรรม ความรับผิดชอบ ความใส่ใจ แนวทางการขับเคลื่อน กลยุทธ์ ฯลฯ)

 

 

From Inner Change to Outer Change

Settapol Parinyapol Polset ผู้ร่วมก่อตั้ง THE MOVING FORWARD
Since:
Update:

Read : 108 times