เป้าหมายการพัฒนาด้านใน หรือ IDG (The Inner Development Goals) ได้ถูกพูดถึงครั้งแรกในการประชุม MindShift Digital Conference ในเดือนเมษายน ค.ศ.2020 ที่จัดขึ้นที่ Stockholm School of Economics ประเทศสวีเดน[1] โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG (Sustainable Development Goals) ไม่บรรลุผลความก้าวหน้า ตามที่ Sustainable Development Report ประจำปี 2022 ได้รายงานว่า SDG ไม่บรรลุผลความก้าวหน้าเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน คือ ปี ค.ศ.2020 และปี ค.ศ.2021 และคะแนนดัชนี SDG (SDG Index Score) ยังมีค่าเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยอีกด้วย ในปี ค.ศ. 2021 ดังภาพ
ภาพ SDG Index Score overtime, world average (2020-2021)[2]
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฟื้นตัวที่ช้าหรือแทบไม่มีเลยในประเทศยากจนและประเทศที่เปราะบาง วิกฤตด้านสุขภาพและความมั่นคงที่ทับซ้อนกันหลายครั้งทำให้ความคืบหน้าของ SDG พลิกกลับ ผลงานใน SDG ข้อที่ 1 (No Poverty) คือ การยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ และ SDG ข้อที่ 8 (Decent work and economic growth) คือ การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดในประเทศรายได้ต่ำ (LIC: low-income countries) และประเทศรายได้ปานกลางถึงล่าง (LMIC: lower-middle-income countries) จำนวนมาก นี่คืออุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าก่อนเกิดโรคระบาด ในช่วงปี ค.ศ.2015-2019 โลกกำลังดำเนินการตาม SDGs ในอัตรา 0.5 จุดต่อปี (ซึ่งช้าเกินไปที่จะบรรลุผลในปี 2030) โดยประเทศที่ยากจนกว่า มีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศร่ำรวย ความคืบหน้าด้านเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพยังช้าเกินไปเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ร่ำรวย[3]
Gus Speth ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกาและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยล ได้สะท้อนถึงความท้าทายด้านความยั่งยืนว่า “ฉันเคยคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดคือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การล่มสลายของระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉันคิดว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หากเรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดี ฉันคิดเช่นนี้มาเป็นเวลา 30 ปี แต่ฉันคิดผิด ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดคือความเห็นแก่ตัว ความโลภ และความเฉยเมย และเพื่อจัดการกับสิ่งเหล่านี้ เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม”[4]
ออตโต ชาร์เมอร์ ศาสตราจารย์อาวุโสที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ผู้ก่อตั้งทฤษฎีตัวยู (Theory U) และผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการริเริ่มองค์กร IDGs กล่าวว่า ประชาคมโลกขาดความสามารถด้านในที่จะจัดการกับสภาพแวดล้อมและความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น สังเกตได้ใน 3 ประการ กล่าวคือ (1) การตัดขาดตนเองจากสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การบริโภคเฉลี่ยของโลก คิดเป็น 1.5 เท่า ของกำลังความสามารถของโลกที่จะสร้างทรัพยากรใหม่ทดแทน ดังนั้น การเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกันจึงสำคัญ (2) การตัดขาดตนเองจากสังคม จนเกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจอย่างมาก กล่าวคือ มีมหาเศรษฐีจำนวน 8 คน ที่มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าผู้คนครึ่งโลกที่ยากจน ดังนั้น การเชื่อมโยงกันและกันด้วยความเมตตากรุณาจึงสำคัญ (3) การตัดขาดตนเองจากจิตวิญญาณ ส่งผลให้ใน 1 ปี มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงถึง 800,000 คน หรือ ทุก ๆ 40 วินาที จะมีคนฆ่าตัวตายเฉลี่ย 1 คน เป็นสถิติการฆ่าตัวตาย ที่มากมายยิ่งกว่า การตายจากสงคราม ฆาตกรรม และภัยพิบัติรวมกัน ดังนั้น การเชื่อมโยงกับด้านในตนเองจึงสำคัญ[5] ออตโต ชาร์เมอร์ ยังได้กล่าวอีกว่า “เราเห็นภาวะผู้นำล้มเหลวมากมายเพราะผู้นำขาดการรับรู้ถึงความจริง หรือพูดอีกอย่างก็คือ ขาดการฟัง ฉันเชื่อว่าการฟังไม่ใช่แค่ความสำคัญแต่คือความสำคัญที่สุด การขาดการฟัง ทำให้ภาวะผู้นำเกิดความล้มเหลว ในวันนี้”[6] ยิ่งเรายึดมั่นถือมั่นในผลประโยชน์ส่วนตัวก็ยิ่งเกิดความอยากได้อยากมีไม่มีที่สิ้นสุด และยิ่งเรายึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นก็ยิ่งทำให้เกิดความคับแคบในใจ จนในที่สุดอาจเกิดภาวะว่างเปล่าในจิตใจ เกิดความสุขได้ยาก เกิดความทุกข์ได้ง่าย หรือเรียกว่าภาวะภูมิต้านทานความทุกข์ต่ำ ดังนั้น เพื่อเชื่อมโยงผู้คนกับสิ่งแวดล้อม สังคม และจิตวิญญาณ การส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาด้านใน หรือ IDGs (The Inner Development Goals) จึงมีจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับผู้นำหรือผู้มีอิทธิพลต่อองค์กรและสังคม
ด้วยเหตุดังกล่าวมา IDGs (Inner Development Goals) จึงได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาด้านในและความยั่งยืนภายนอก หนึ่งในความพยายามเหล่านั้น คือ การประชุม MindShift Digital Conference ในเดือนเมษายน ค.ศ.2020 ที่จัดขึ้นที่ Stockholm School of Economics ซึ่งเป็นสถานที่ที่การริเริ่ม IDG ได้ถูกแนะนำออกไปเป็นครั้งแรก จากนั้น วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ.2021 กรอบงานเป้าหมายการพัฒนาด้านใน (IDG Framework) ที่ร่วมกันสร้างสรรค์โดยนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบอาชีพด้านทรัพยากรบุคคล และความยั่งยืน รวมแล้วมากกว่า 1000 คน ก็ได้เผยแพร่ออกไปสู่ไปทั่วโลกแบบไม่มีลิขสิทธิ์ (Open Source) ประกอบด้วย 23 เป้าหมายการพัฒนาด้านใน โดยแบ่งออกเป็น 5 มิติ ได้แก่
(1) การดำรงอยู่ - ความสัมพันธ์กับตนเอง (Being - Relationship to Self)
(2) การคิด - ทักษะการรู้คิด (Thinking - Cognitive Skills)
(3) ความสัมพันธ์ - การใส่ใจผู้อื่นและโลก (Relating - Caring for Others and the World)
(4) ความร่วมมือ - ทักษะทางสังคม (Collaborating - Social Skills)
(5) การลงมือทำ - สร้างการเปลี่ยนแปลง (Acting - Enabling change)[7]
และงานวิจัย เรื่อง A Qualitative Study on Relating the Inner Development Goals to the Leadership Development Approach of a CSO in a Developing Country ได้เสนอให้ผู้ทำงานเพื่อสังคมควรมีการสร้างศูนย์รวมชุมชนและเครือข่าย (IDG Hub and Network) ซึ่งจะเกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงการมีอยู่ของเป้าหมายการพัฒนาด้านใน (IDGs) รวมถึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตส่วนตัวและอาชีพการงานได้ พร้อมกันนี้ยังเสนอว่า ควรมีหลักสูตรอย่างเป็นทางการเพื่อทำให้เกิดกิจกรรม โครงการที่จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดเป้าหมายการพัฒนาด้านใน (IDGs) ซึ่งจะช่วยเร่งความสำเร็จของ SDGs[8]
[1] The Inner Development Goals, About – Inner Development Goals, [Online], Source: https://innerdevelopmentgoals.org/about [11 Aug 2024].
[2] Jeffrey D. Sachs, Guillaume Lafortune, Christian Kroll, Grayson Fuller, and Finn Woelm, Sustainable Development Report 2022, (UK: Cambridge University Press, 2022), p. vii.
[3] Jeffrey D. Sachs, Guillaume Lafortune, Christian Kroll, Grayson Fuller, and Finn Woelm, Sustainable Development Report 2022, (UK: Cambridge University Press, 2022), p. vii.
[4] Jed Bryan Manguera, Vaishnavi Srinivasan, and Elisabeth Wandel, “A Qualitative Study on Relating the Inner Development Goals to the Leadership Development Approach of a CSO in a Developing Country”, Master Thesis with a focus on Leadership and Organisation for Sustainability, (Sweden: Malmö University, 2022), p. 5.
[5] ออตโต ชาร์เมอร์, หัวใจทฤษฎีตัวยู: หลักการและการประยุกต์ใช้สู่การตื่นรู้และการสร้างขบวนการทางสังคม (The Essentials of Theory U: Core Principles and Applications) แปลโดย สมสิทธิ์ อัสดรนิธี, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๖๓), หน้า ๕-๗.
[6]The Inner Development Goals, Inner Development Goals Film, [Online], Source: https://www.youtube.com/watch?v=xsB5ci-rgGg [11 Aug 2024].
[7] The Inner Development Goals, Framework - Inner Development Goals, [Online], Source: https://www.innerdevelopmentgoals.org/framework [11 Aug 2024].
[8] Jed Bryan Manguera, Vaishnavi Srinivasan, And Elisabeth Wandel, A Qualitative Study on Relating the Inner Development Goals to the Leadership Development Approach of a CSO in a Developing Country, Master Thesis with a focus on Leadership and Organisation for Sustainability, (Sweden: Malmö University, 2022), p. 52.