ไรลีย์ (Reilly, 2017) คือโค้ชและที่ปรึกษาทางธุรกิจของบริษัทใน 100 อันดับของนิตยสารฟอร์จูน เขานำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำแบบเอื้ออำนวย ผ่านหนังสือชื่อ ผู้นำแบบเอื้ออำนวย: การบริหารผลการปฏิบัติงานโดยปราศจากการควบคุมคน (The Facilitative Leader: Managing Performance without Controlling People) เขาอธิบายภาวะผู้นำแบบเอื้ออำนวย ผ่านเรื่องราวการสอนลูกว่ายน้ำของคุณแม่สองคนที่เป็นพี่น้องกัน คุณแม่ทั้งสองคนมีลูกสาวอายุ 5 ขวบเท่ากัน ลูกของผู้เป็นพี่สาวชื่ออเล็กซิส และลูกของผู้เป็นน้องสาวชื่อเอมิลี่ ทุก ๆ ปี ครอบครัวของคุณแม่ทั้งสองคนจะนัดกันไปพักผ่อนต่างอากาศที่ชายหาด ก่อนที่อเล็กซิสและเอมิลี่จะลงเล่นน้ำ แม่ของพวกเธอมีท่าทีต่างกัน แม่ของอเล็กซิส จะบอกเธอ 3 ข้อก่อนที่ลงเล่นน้ำ ข้อหนึ่ง คือ ให้เล่นอยู่ต่อหน้าผู้ดูแลความปลอดภัย (Lifeguard) ข้อสอง คือ ไม่เล่นใกล้เชือก แม่ของอเล็กซิสชี้ให้ลูกของเธอดูเชือกที่กั้นระหว่างบริเวณน้ำตื้นและบริเวณน้ำลึก และข้อสาม คือ ไม่เล่นน้ำลึก แม่ของอเล็กซิสบอกลูกของเธอว่าตอนที่คลื่นซัดมาให้เอามือวัดระดับน้ำ ให้สังเกตว่าน้ำจะต้องไม่สูงเกินกว่าระดับหน้าอก จากนั้นอเล็กซิสก็ลงเล่นน้ำ ในขณะที่แม่ของอเล็กซิสก็นั่งอ่านหนังสืออยู่ใกล้ ๆ และคอยสอดสายตาผ่านหนังสือออกไปมองอเล็กซิสอยู่เรื่อย ๆ ผลปรากฏว่า ระหว่างที่เล่นน้ำ อเล็กซิสจะคอยมองผู้ดูแลความปลอดภัย (Lifeguard) และคอยมองเชือกกั้นว่าไม่ได้เข้าไปใกล้ นอกจากนั้น ก็ยังเอามือขึ้นมาวางในระดับหน้าอกเพื่อวัดระดับน้ำทะเลเวลาที่คลื่นซัดมา ในขณะแม่ของเอมิลี่ ไม่ได้สอนอะไร แต่พอเอมิลี่ลงเล่นน้ำ แม่ของเธอจะคอยตะโกนตักเตือนเอมิลี่อยู่แทบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เอมิลี่เริ่มเล่นห่างออกไป เริ่มเล่นน้ำลึกเกินไป เริ่มเล่นอยู่ใกล้เชือกกั้น หรือแม้แต่เมื่อเอมิลี่เล่นทราย เล่นเปลือกหอย แม่ของเธอก็จะตะโกนตักเตือนเสียงดัง ไม่ว่าเอมิลี่จะทำอะไรก็ดูเหมือนว่าจะทำผิดอยู่ตลอด ผลปรากฏว่าอเล็กซิสเล่นน้ำได้อย่างสบายใจ แต่เอมิลี่ต้องคอยมองแม่ตลอดเวลาว่าเธอกำลังทำอะไรผิดอยู่หรือไม่
ในฐานะหัวหน้างาน หากเราพัฒนาทีมงานด้วยการควบคุม แนะนำ บอกสอนอยู่ตลอดเวลา ผลก็จะปรากฏไม่ต่างจากเรื่องเล่านี้ ทีมงานของเราจะคอยมองหาเราและไม่กล้าตัดสินใจใด ๆ เลย หากเราสนใจที่จะพัฒนาทีมงานจริง ๆ เพื่อให้เขาได้กลายเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ (Responsibility) กล้าตัดสินใจ เราจำเป็นต้องถอดบทเรียนจากเรื่องเล่าและเอาอย่างแม่ของอเล็กซิสไม่ใช่แม่ของเอมิลี่ คือ ควรบอกสิ่งที่จำเป็นกับเขาในเบื้องต้น เปรียบเสมือนการให้เข็มทิศกับเขา ในขณะที่เขากำลังทำงาน หัวหน้างานควรจะให้โอกาสเขาได้ทดลองทำ ให้เขามีสมาธิในการทำงาน ไม่รีบร้อนตัดสินถูกผิด เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ ค้นพบวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ไรลีย์ (Reilly, 2017) ให้แนวคิดเกี่ยวกับ ผู้นำแบบเอื้ออำนวย (Facilitative Leader) ผ่านการเปรียบเทียบกับผู้นำเชิงเผด็จการ (Autocratic Behaviorism) ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการความคาดหวัง (Expectation), ด้านการให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) และด้านความรับผิดชอบ (Accountability) โดยสรุป ดังต่อไปนี้
การบริหารความคาดหวัง (Expectation) ผู้นำแบบเอื้ออำนวยจะเน้นมาตรฐานในการทำงานมากกว่าเน้นเป้าหมายจากการทำงาน โดยให้ทีมงานมีส่วนร่วมในการรับทราบและกำหนดมาตรฐานร่วมกัน โดยเน้นบริหารจัดการผ่านการให้แนวทางมากกว่ากำหนดโดยกฏเกณฑ์ที่ตายตัว เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และยังคงมีแนวทางในการตัดสินใจได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้จะเน้นสร้างแรงจูงใจผ่านการสร้างบรรยากาศในการทำงาน สรุปเป็นดังตารางได้ ดังนี้
ตาราง การบริหารความคาดหวังของผู้นำแบบเผด็จการและผู้นำแบบเอื้ออำนวย
ผู้นำเผด็จการ (Autocratic Behaviorism) |
ผู้นำแบบเอื้ออำนวย (The Facilitative Leader) |
เน้นเป้าหมาย (Goals) จากการทำงาน |
เน้นมาตรฐาน (Standards) ในการทำงาน |
บริหารจัดการผ่านการให้กฎเกณฑ์ (Rules) |
บริหารจัดการผ่านการให้แนวทาง (Guidelines) |
ใช้เป้าหมายสร้างแรงจูงใจให้คนอื่น |
สร้างบรรยากาศให้เกิดแรงจูงใจด้วยตนเอง |
บงการมาตรฐานตามที่ตนต้องการ |
มองหาฉันทามติในเรื่องความคาดหวัง |
การให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) จะหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลป้อนกลับตามความคาดหวังของตนเอง แต่จะให้ข้อเสนอแนะเพื่อต่อยอดความก้าวหน้าในงาน
การให้ข้อมูลป้อนกลับตามความคาดหวัง หมายถึง ผู้นำให้ข้อเสนอแนะตามความถูกใจหรือไม่ถูกใจตนเอง คือ ยกย่องผลงานเมื่อทีมงานทำได้ถูกใจหรือวิจารณ์ผลงานเมื่อทีมงานทำได้ไม่ถูกใจตนเอง แนวทางนี้อาจถูกมองได้ว่าเป็นความพยายามควบคุมในรูปแบบหนึ่ง ผู้นำอย่างเผด็จการมักใช้คำสรรเสริญสลับกับคำวิจารณ์เพื่อควบคุมพฤติกรรมพนักงาน ด้วยวิธีเช่นนี้ พนักงานจะมองเห็นสิ่งนั้นเป็นการถูกควบคุมและต้องเชื่อฟังในคำสั่งอย่างจำใจ
การให้ข้อเสนแนะเพื่อต่อยอดความก้าวหน้าในงาน หมายถึง ผู้นำให้ข้อเสนอแนะโดยมุ่งเน้นไปที่กระบวนการ เพื่อกระตุ้นให้กำลังใจทีมงาน สร้างความหวัง รู้สึกได้รับความเคารพและการร่วมมือกัน ผู้นำแบบเอื้ออำนวยจะตระหนักถึงความก้าวหน้าในงาน มองเห็นความก้าวหน้าและช่วยให้ทีมงานเห็นจุดที่จะพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยไม่มองแบบจ้องจับผิดพฤติกรรมทีมงาน การมุ่งเน้นเป้าหมายอย่างเอาเป็นเอาตาย อาจหมายถึงการลืมบริหารในกระบวนการเพื่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจและเกิดความผูกพันของทีมงาน
ผู้นำเชิงเผด็จการ จะมองว่าผลงานเป็นความรับผิดชอบของเขาเอง แล้วใช้งานทีมงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของตนเอง บางครั้งอาจละเลยการให้ข้อมูลป้อนกลับ หรืออาศัยเพียงการให้คำยกย่องและคำวิจารณ์เท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่ากำลังทำหน้าที่การบริหารจัดการ และอาจกำลังแทรกแซงความก้าวหน้าของพนักงานผ่านการควบคุมวิธีการอีกด้วย
ผู้นำแบบเอื้ออำนวย จะเน้นให้ทีมงานเกิดความรับผิดชอบด้วยตัวพวกเขาเอง สร้างความไว้วางใจและความมั่นใจ ช่วยให้พนักงานได้มองเห็นสิ่งที่สามารถพัฒนาปรับปรุง อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามความสามารถของแต่ละคน ในขณะเดียวกันก็มองเห็นความคืบหน้าตลอดกระบวนการของทีมงาน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ด้วยท่าทีเช่นนี้ ผู้จัดการแบบเอื้ออำนวยจะทำให้พนักงานเกิดความมั่นใจในการทำงาน ส่งผลให้พนักงานมีพัฒนาการในการบริหารจัดการตัวเอง (Self-management)
การให้คำยกย่องและคำวิจารณ์ด้วยความคาดหวังที่ซ่อนอยู่ เป็นความพยายามที่จะบริหารจัดการผลลัพธ์ ไม่ใช่การบริหารคน การช่วยกันทบทวนถึงความก้าวหน้าในงานอย่างช้า ๆ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ในงานดีขึ้น กุญแจสำคัญ คือ การมีเจตนาที่ดีต่อคน มากกว่าแค่เพียงการคาดหวังในผลงาน โดยเจตนาที่ดีนั้นถูกสื่อสารได้ดีผ่านการกระทำมากกว่าคำพูด เมื่อเกิดความก้าวหน้าเล็ก ๆ ก็ต้องชื่นชมในความพยายามไม่ใช่ชื่นชมต่อผลงาน สิ่งนี้จะทำให้เกิดความไว้วางใจต่อกันมากขึ้น (ไรลีย์, 2017)
ความรับผิดชอบ (Accountability) ผู้นำแบบเอื้ออำนวยจะช่วยให้ทีมงานเกิดความรับผิดชอบในงานด้วยตัวเขาเอง โดยไม่เน้นการควบคุมพฤติกรรมในระยะสั้นของทีมงาน มุ่งเน้นที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ใส่ใจให้ความเป็นธรรมมากกว่าที่จะใช้รางวัลหรือการลงโทษ มุ่งเน้นพิจารณาที่ความก้าวหน้า โดยมองหาข้อดีมากกว่าจ้องจับผิดที่พฤติกรรม
สรุปเป็นตารางได้ ดังนี้
ตาราง สรุปภาพรวมของผู้นำแบบเผด็จการ และ ผู้นำแบบเอื้ออำนวย
ผู้นำเชิงเผด็จการ (Autocratic Behaviorism) |
ผู้นำแบบเอื้ออำนวย (The Facilitative Leader) |
ควบคุมพฤติกรรมระยะสั้นของทีมงาน |
ช่วยให้ทีมงานเกิดความรับผิดชอบในงาน |
มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ |
มุ่งเน้นที่กระบวนการ |
ใช้รางวัล และ การลงโทษ |
เป็นธรรม และ รับผิดชอบอย่างเสมอภาค |
มองทีมงานที่ชุดพฤติกรรมที่ผิดพลาด |
มองทีมงานที่ความก้าวหน้าในงาน |
ทีมงานถูกให้รับผิดชอบในหน้าที่ |
ทีมงานมีความรับผิดชอบในหน้าที่ |
ทีมงานตัดสินใจเองได้ไม่สะดวก |
ทีมงานตัดสินใจเองได้อย่างสะดวก |
ผู้นำยื้อความรับผิดชอบในงานไว้เอง |
ทีมงานรับผิดชอบในงานด้วยตนเอง |
ทีมงานขึ้นอยู่กับการบริหารของผู้นำ |
ทีมงานบริหารจัดการตนเองได้ |
ให้แนวทางจำกัด ทีมงานมีส่วนร่วมน้อย |
ให้แนวทางเปิดกว้าง ทีมงานมีส่วนร่วมมาก |
บริหารจัดการความหวังให้มาก ให้ข้อมูลป้อนกลับตามกรอบข้อตกลงร่วมกัน และมุ่งเน้นกระจายอำนาจ สร้างภาวะผู้นำให้ทีมงาน แนที่การลงไปล้วงลูกด้วยตนเอง
--- ดร.ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร
แหล่งอ้างอิง: ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร. (2564). ภาวะผู้นำแบบเอื้ออำนวยใน "คณะดั่งกันและกัน" หมู่บ้านพลัม ประเทศไทย [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยมหิดล.
งานเขียนที่เกี่ยวข้อง