การเอื้ออำนวย (Facilitation) คือ กระบวนการโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล (Facilitator) ที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคนในกลุ่ม มีความเป็นกลาง (Neutrality) ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่แทรกแซงด้วยการช่วยแก้ปัญหา จากข้อความนี้ มี 2 ประโยคที่สำคัญ ประโยคแรก คือ “การได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคน” เนื่องจากการเอื้ออำนวยกระบวนการต่าง ๆ ของกลุ่มให้เกิดประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้สมาชิกทุกคน ให้ทุกคนกล้าเปิดเผยความคิดเห็นของตนเองได้อย่างอิสระ หากกระบวนกร (Facilitator) ได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคน ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น อีกประโยคที่สำคัญเช่นเดียวกัน คือ “การมีความเป็นกลาง (Neutrality)” เนื่องจากการวางตัววางใจให้เป็นกลางจะช่วยให้กระบวนกรสามารถเอื้ออำนวยกระบวนการต่าง ๆ ของกลุ่มให้ไหลเลื่อนเคลื่อนไปได้ โดยปราศจากการแทรกแซงความคิดเห็นส่วนตัวหรือพยายามชี้นำให้เกิดผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามความคาดหวังในใจของ Facilitator ซะเอง ซึ่งนั่นจะไม่ใช่การเอื้ออำนวย
สิ่งสำคัญที่ทำให้ กระบวนกร (Facilitator) แตกต่างจากผู้นำแบบเอื้ออำนวย (Facilitative Leader) คือ ความเป็นกลางจากภายในใจ เนื่องจากกระบวนกรนั้น มักจะเป็นคนกลางจากภายนอกกลุ่ม จึงไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลที่จะเกิดขึ้นมากนัก ในระหว่างที่เอื้ออำนวยกระบวนการกลุ่มการวางตัววางใจให้เป็นกลางนั้นจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ในขณะที่ ผู้นำแบบเอื้ออำนวย (Facilitative Leader) เป็นสมาชิกภายในกลุ่ม จึงอาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับผลที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการกลุ่ม เมื่อเอื้ออำนวยนำพากระบวนการกลุ่ม เขายังคงต้องรักษาความเป็นกลางภายในใจอย่างที่สุด แต่เขาก็พร้อมจะเสนอข้อมูลหรือความเชี่ยวชาญของตนลงไปในกระบวนการกลุ่มด้วย การแทรกแซงจะเกิดขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม ด้วยความซื่อตรง โปร่งใส ในฐานะการเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม เพื่อช่วยให้กลุ่มยังคงอยู่บนทางสู่ความสำเร็จ และช่วยให้สมาชิกได้รับความพึงพอใจสูงสุด
ในบริบทของการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สามารถเอื้ออำนวยกระบวนการกลุ่ม โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายนอกกลุ่ม (Facilitator) แต่ในบริบทขององค์กรนั้นมีความซับซ้อน สมาชิกขององค์กรล้วนเป็นศูนย์กลางของข้อมูล และสามารถเป็นตัวกลางทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการกลุ่มได้ จึงเกิดบทบาทใหม่ขึ้นในองค์กรเรียกว่า ผู้นำแบบเอื้ออำนวย (Facilitative Leader) โดยบทบาทนี้สามารถเคลื่อนย้ายไปยังสมาชิกคนอื่น ๆ ตามประเด็นและงานที่ทำ สมาชิกทุกคนในกลุ่มสามารถเพิ่มทักษะการเอื้ออำนวย (Facilitation Skill) เพื่อเป็นผู้นำแบบเอื้ออำนวย ในขณะที่ก็ยังสามารถดำรงบทบาทหน้าที่การเป็นสมาชิกกลุ่มอย่างมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ด้วย
ผู้นำแบบเอื้ออำนวย จึงเป็นการประสานพลังจากการเป็นทั้งกระบวนกร (Facilitator) และ การเป็นผู้นำ (Leader) ขององค์กรเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้กลุ่มทำงานร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว (Harmony) เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (Interconnecting) เกิดแนวคิดแนวทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
เบรชเชียร์และโวลเกอร์ เสนอชุดเครื่องมือจำนวนมากสำหรับผู้นำแบบเอื้ออำนวย เช่น Appreciative Inquiry, Ball of Yarn Two: Celebrations and Appreciations, Brainstorming, Concurrent Exploring, Crative Thinking: 1001 Ways to use a paperclip, Feedback loops, Force field analysis, Icebreakers, The miracle question, Nameplate exercise, Pluses and Wishes, Rotating Rounds, Sample Agenda, Scaling, Sequenced Sharing, Success Matrix, SWOC, Turning off the volume เป็นต้น
--- ดร.ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร
แหล่งอ้างอิง: ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร. (2564). ภาวะผู้นำแบบเอื้ออำนวยใน "คณะดั่งกันและกัน" หมู่บ้านพลัม ประเทศไทย [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยมหิดล.
งานเขียนที่เกี่ยวข้อง