กาลามสูตรไม่ใช่วิทยาศาสตร์

กาลามสูตรก็คือกาลามสูตร

เป็นเรื่องของการใช้ "วิจารณญาณ"

 

กาลามสูตร "ไม่ใช่วิทยาศาสตร์"

อย่างที่บทความใน Google เขียนไว้

 

เพราะกาลามสูตรยอมรับทั้งส่วนที่เป็นสากล (Universal) และส่วนที่เป็นประสบการณ์เฉพาะในเชิงปัจเจกชน (Individual) ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะกฎสากลเหมือนกับวิทยาศาสตร์ และไม่ได้อิงเกณฑ์บนพื้นฐานที่ต้องพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น และกาลามสูตรเองก็ไม่ได้ใช้ตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความจริงเหมือนกับวิทยาศาสตร์ แต่ใช้ "ปัญญาญาณ" ตั้งแต่ระดับ "วิจารณญาณ" (คือ การวิเคราะห์ (analytic) ประเมินค่า (appliciate) และการประยุกต์ใช้ (application) โดยเล็งผลอันเลิศ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตวิญญาณ) จนถึงระดับ "ยถาภูตญาณ" ที่สอดคล้องกับหลักโยนิโสมนสิการในทางพุทธศาสนา

 

กาลามสูตร (ทุกตัวอักษร) ที่ปรากฏในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต แบ่งออกได้เป็น 3 ตอน ดังนี้

 

#Ep1 : #อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ

คือ ฐานข้อมูล (Database) ที่ผ่านการถอดสิ่งสากล (abstraction) ในเชิงภววิทยา (Ontology) มาแล้ว ในตอนที่ 1 นี้ พระพุทธองค์ทรงสอน อย่าเพิ่งเชื่อความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็นแค่ "ข้ออ้าง" หรือ "เพียงเพราะอ้างว่า" โดยแบ่งออกเป็น 10 ฐานข้อมูล ดังนี้

1. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะอ้างว่าฟังตามกันมาหรือคำบอกเล่า/เรื่องเล่า (narative)

2. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะอ้างว่าเป็นประเพณี (ขนบ ธรรมเนียม จารีต)

3. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะอ้างว่าเป็นคำเล่าลือ เป็นข่าวสาร (ทุกช่องทาง) 

4. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะอ้างว่ามาจากตำรา คัมภีร์ หนังสือ (สื่อสิ่งพิมพ์ทุกประเภท)

5. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะอ้างว่าเป็นตรรกะนิรนัย (deduction) มีเหตุผล (reason) ดูสมเหตุสมผลเชิงตรรกะ (T/F) สอดคล้องกับหลักคณิตศาสตร์ ตลอดถึงการนึกเดาเอาเอง

6. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะอ้างว่าเป็นตรรกะอุปนัย (induction) ได้แก่ สิ่งที่เป็นสถิติ เป็นโพลสำรวจ เป็นการเก็บปรากฏการณ์ซ้ำๆ จากธรรมชาติในเชิงการทดลอง

7. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะอ้างว่าเป็นการคาดการณ์คาดคะเน อนุมานตามประสบการณ์ที่ผ่านมาหรือในเชิงปรากฏการณ์ (phenomenology) หรือความน่าจะเป็น

8. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะอ้างว่ามันเข้าได้กับความคิดเห็น แนวคิด ทฤษฎี หลักการ ปรัชญา ที่ตนเชื่อมั่น หรือปักหมุดเอาไว้ในใจว่า ของฉันนี้เท่านั้นจริง ของคนอื่นผิดหมด (อิทะ เมวะ สัจจัง โมฆะ มัญญัง)

9. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะอ้างว่า ผู้พูดนั้นดูน่าเชื่อถือ มีภาพลักษณ์ทางสังคมที่ดี มีการยอมรับทั่วไปในระดับสูง หรือเชื่อตามลักษณะอาการที่ปรากฏว่ารูปลักษณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเช่นนั้น

10. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะอ้างว่า บุคคลผู้นี้คือคุรุ-ครู-อาจารย์-เจ้าสำนัก-เจ้าลัทธิ (teacher) ฟาร์ (facilitator) เมนเทอร์ (mentor) ของเรา (ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือไม่ใช่นักบวช)

 

คำว่า "อย่าเพิ่งเชื่อ" มี 2 สภาวะ

(1) อย่าเพิ่งรับว่า "เชื่อ"

(2) อย่าเพิ่งปฏิเสธว่า "ไม่เชื่อ"

อย่าใช้อคติทั้งปวงในการตัดสิน

แต่ให้รับไว้ในฐานะ "สมมติฐาน" 

เพื่อพิจารณาด้วยวิจารณญาณ

ในลำดับถัดไป ดังนี้

 

#Ep2 : ควรเชื่ออย่างมีวิจารณญาณ

 

เมื่อกาลามสูตรในตอนแรกสอนเราว่า อย่าเพิ่งเชื่อ (ใน 10 ฐานข้อมูล) แล้ว คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วควรมีทีท่าต่อฐานข้อมูลเหล่านี้อย่างไร คำตอบจึงได้แก่ ควรเชื่ออย่างมีวิจารณญาณ โดยสอนให้พิจารณาด้วยวิจารณญาณ ดังนี้

 

#สิ่งที่ควรรับว่าเชื่อและควรปฏิบัติตาม ได้แก่

1. เป็นกุศลมูล

2. ไม่เบียดเบียน

3. วิญญูชนสรรเสริญ

4. เป็นประโยชน์

5. เป็นสุข

 

#สิ่งที่ไม่ควรรับว่าเชื่อและไม่ควรปฏิบัติตาม ได้แก่

1. เป็นอกุศลมูล

2. เบียดเบียนให้เกิดโทษ

3. วิญญูชนติเตียน

4. ไม่เป็นประโยชน์

5. เป็นทุกข์

 

ตอนที่ 2 (Ep.2) ในกาลามสูตรนี้ คือส่วนของ เกณฑ์ตัดสินความจริง (criterion of truth) ในเชิงคุณค่า ซึ่งถือเป็นยอดมงกุฏแห่งพุทธปรัชญา เป็นเพชรน้ำเอกของพุทธศาสนาที่ไม่อิงกับวิทยาศาสตร์ในเชิงมนุษยนิยมที่เน้นแต่เรื่องข้อเท็จจริง (fact) เพียงอย่างเดียว แม้แต่ส่วนจริยธรรม วิทยาศาสตร์ทางจิต/mind (จิตวิทยา) ก็เน้นเฉพาะแต่เรื่องพฤติกรรม (behavior) เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ใส่ใจเรื่องคุณค่าทางศีลธรรม (value of moral) เหมือนในกาลามสูตร

 

คุณค่าที่เกิดขึ้นจากกาลามสูตรนี้ ย่อมให้อานิสงส์แก่ผู้ที่เชื่อและปฏิบัติตามอย่างเป็นเอนกอนันต์ ซึ่งถูกระบุไว้ ในตอนที่ 3 ดังต่อไปนี้

 

#Ep3 : เชื่ออย่างมีวิจารญาณแล้วดีอย่างไร

 

คำตอบก็คือ 

1. #ถ้านรกสวรรค์มีจริง : คนทำดีก็ได้ไปสวรรค์ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ คนทำชั่วก็ตกนรกวนๆ กันไปจนกว่าจะหมดเวรหมดกรรมที่เคยก่อไว้

2. #ถ้านรกสวรรค์ไม่มีจริง : คนทำดีก็ได้รับความสุขในปัจจุบัน ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจหรือหวาดระแวงเหมือนคนที่ทำชั่ว ดังคำว่า "สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ"

3. #ถ้าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเป็นจริง : คนทำดีก็ได้รับวิบากกรรมดี คนทำชั่วก็ได้รับวิบากกรรมชั่ว ตามเหตุตามปัจจัย

4. #ถ้าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วไม่เป็นจริง : คนทำดีก็ไม่ได้ขาดทุนตรงไหน คนทำชั่วก็ไม่ได้กำไรเช่นกัน เพราะคนทำดีมีแต่คนยกย่องสรรเสริญ มีคนรักและให้เกียรติ สร้างชื่อเสียงให้กับวงศ์ตระกูล ส่วนคนทำชั่ว จิตใจก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น มีแต่ความกลัว กังวล หวาดระแวง เดือดเนื้อร้อนใจ เสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง ผู้คนติเตียน สาปแช่ง เป็นผู้ทำให้ตระกูลเสื่อมเสีย ไม่เป็นที่ยอมรับทั่วไปของคนในสังคม

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้ที่เชื่อและปฏิบัติตามหลักกาลามสูตรจะได้รับประโยชน์สุขในโลกนี้ ถ้าโลกหน้ามีจริงก็จะได้รับความสุขโลกหน้าด้วย ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ทางนี้เป็นทางแห่งกุศล เป็นทางแห่งสติปัญญา ทางแห่งอริยมรรค-อริยผล เป็นเกณฑ์ค้ำประกันความชอบธรรม (justification) ในทางพุทธจริยศาสตร์ ซึ่งวิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้ความใส่ใจในการศึกษาเรื่องนี้

 

แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังต้องถูกตรวจสอบด้วยหลักกาลามสูตรเช่นกัน อยู่ในฐานะ "สมมติฐาน" เหมือนกัน เพราะข้อ 5, 6, 7, 8 เป็นเรื่องของฐานข้อมูลและวิธีการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ครอบคลุมถึงการทำวิจัยในทางสังคมศาสตร์ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนเชิงปรากฏการณ์วิทยา 

 

หากเจตนาในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือเจตนาในการใช้เทคโนโลยีเป็นไปด้วยอกุศลจิต กาลามสูตรเองก็สอนว่าไม่ควรรับว่าเชื่อหรือปฏิบัติตามข้อเท็จจริงเหล่านั้น

 

วิทยาศาสตร์ให้เพียงข้อเท็จจริง

และความสะดวกสบายในชีวิต

แต่ไม่ได้ให้ความจริงในเชิงคุณค่า

ผู้มีวิจารณญาณจงใช้วิทยาศาสตร์

ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่สรรพชีวิต

 

______________________

อ่านเพิ่มเติมได้จากลิงค์

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1209377295881772&id=100004285386661

 

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1126054420880727&id=100004285386661

 

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1126067080879461&id=100004285386661

 

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1174859036000265&id=100004285386661

 

#ขอบคุณผู้ชี้

#ขอบคุณเพื่อนสหธรรมิกชน

#องค์ความรู้นี้เป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์เรื่องเกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตร:#การศึกษาเชิงวิเคราะห์วิจักษ์และวิธาน

เมธา หริมเทพาธิป ความจริง ความงาม ความรัก ความเป็นหนึ่งเดียว
เขียน 08 ต.ค. 2566 07:54
ปรับแก้ 08 ต.ค. 2566 07:54