ความงาม คือ การยอมรับ
การยอมรับ ได้แก่
การไม่รังเกียจเพื่อนมนุษย์
ไม่รังเกียจทั้งกระแสลบและกระแสบวก
ทั้งในด้านมืดและสว่าง
ทั้งด้านดีและด้านร้าย
ไม่รังเกียจปัญหาของมนุษย์
หรือความไม่สมดุลในเพื่อนมนุษย์
มีความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ตามความเป็นจริง
แรกเริ่มของการมีปฏิสัมพันธ์กับใคร จงแสดงออกซึ่งความจริง ความงาม ความรัก ด้วยการ "ยอม"
> "ยอม" อย่างไร้เงื่อนไข
> "ยอม" โดยโดยไม่สนใจเรื่องความถูกหรือผิดของฝ่ายใด
> "ยอม" โดยคำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบกันและกัน
> "ยอม" ตั้งแต่เริ่มแรกของการมีปฏิสัมพันธ์กับเขาคนนั้น
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า การ "ยอม" ทุกอย่างแบบไร้เงื่อนไขเช่นนี้ เป็นการแสดงออกซึ่งความจริง ความงาม ความรัก ที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง ไม่หลงงมงาย ขาดสติ บ้าบอ หรือไร้เหตุผล?
ลองคิดดูว่า ระหว่าง “คนที่มองเราเป็นเพื่อน” กับ “คนที่มองเราเป็นคู่แข่ง” เขาจะปฏิบัติกับเราแตกต่างกันหรือไม่
“คนที่มองเราเป็นเพื่อน”
เขาจะใช้ความรักความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ไม่จับจ้อง ตัดสิน คิดเทียบเพื่อต้องการเหนือชั้นกว่าเรา หรือคิดกดตัวเองให้ต่ำต้อยกว่าเรา เพราะเขาเป็นเพื่อนเรา ไม่ใช่คู่แข่ง เขายอมรับเราอย่างที่เราเป็น ไม่ว่าเราจะยากดีมีจน จะดีหรือเลวยังไงก็ตาม เป็นความรักง่ายๆ ที่เพื่อนมนุษย์มีให้กันได้ไม่เหลือวิสัย
ส่วน “คนที่มองเราเป็นคู่แข่ง”
เขามักจะทำหรือพูด
เพื่อให้เขาดูเหมือนว่า
> เป็นคนถูกต้องกว่าเรา
> เป็นคนฉลาดกว่าเรา
> เป็นคนดีและประเสริฐกว่าเรา
> เป็นคนดูเด่นกว่าเรา
> เป็นคนล้ำเลิศกว่าเรา
> เป็นคนสูงส่งกว่าเรา
> เป็นคนที่น่ายกย่องกว่าเรา
> เป็นคนเก่งกาจกว่าเรา
> เป็นคนบริสุทธิ์กว่าเรา
> เป็นคนสำคัญกว่าเรา
> เป็นคนน่าเคารพกว่าเรา
> เป็นคนมีสภาวธรรมสูงกว่าเรา
> เป็นคนมีบุญบารมีมากกว่าเรา
> เป็นคนมีพรสวรรค์มากกว่าเรา
...........ฯลฯ...........
พึงรู้ว่า... เขาไม่ได้มองเราเป็นเพื่อน เขาไม่ได้จริงใจกับเรา เขามีใจรังเกียจ ริษยา กดข่ม คิดเทียบกับเรา แข่งขันกับเรา (มองเราเป็นคู่แข่ง/ศัตรู) เขาจึงเชื่อมต่อกับเราด้วยพลังงานลบ
แต่ก็อย่าไปถือโทษโกรธเคืองเขา
นั่นเป็นเพราะ...
> เขาแค่ขาดความสุขในชีวิต
> เขาแค่ขาดความสมดุลในชีวิต
> เขาแค่ขาดความอบอุ่นในชีวิต
> เขาแค่อยากได้รับความสำคัญ
> เขาแค่อยากให้คนยอมรับนับถือ
> เขาแค่ขาดความรักความเข้าใจ
> เขาแค่ขาดความเมตตาต่อตัวเอง
> เขาแค่อยากได้รับโอกาสดีดีในชีวิต
สิ่งนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับเราเช่นกัน หากหัวใจของเรา “ต้องการเอาชนะเพื่อนมนุษย์” มากกว่าที่จะ “รักและเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยความปรารถนาดี”
หากเรามีความรักที่บริสุทธิ์ เราจะสามารถยอมรับใช้
ความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์ได้ เพื่อให้เขามีความสุข ความสมดุล
เพราะเรามีหน้าที่เป็นเพื่อนกับเขา และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น โดยไม่พยายามไปเปลี่ยนแปลงเขา
แต่ถ้าจะเปลี่ยนเราจะเปลี่ยนแปลงที่ตัวของเราเองเป็นอันดับแรก นั่นก็เพราะเราเชื่อว่า...
ใครก็เปลี่ยนเราไม่ได้
ได้แต่ชี้ทางให้เราเท่านั้น
และเขาเองก็รู้เช่นกันว่า...
เราได้แต่ชี้ทางให้เขาเท่านั้น
แต่ไม่อาจทำให้เขาเปลี่ยนไปได้เช่นกัน
เว้นเสียแต่ว่า...
เราจะเปลี่ยนเพื่อตัวเราเอง
เพื่อส่งแรงสั่นสะเทือนนี้ไปถึงเขา
เพื่อให้เขาได้รู้ว่า
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เป็นไปเพื่อตัวเขาเองทั้งสิ้น
ส่วนเขาจะเปลี่ยนหรือไม่นั้น
เราไม่คาดหวัง เว้นเสียแต่...
เขาจะเปลี่ยนตัวเขา
เพื่อความสุขสมดุลในชีวิตของเขาเอง
การยอมอย่างไร้เงื่อนไข มีพลังมหาศาลมากในการก้าวข้ามอัตตาที่ก้าวข้ามได้ยาก มันช่วยให้เราได้ฝึกฝนความเข้าใจในตนเองและผู้อื่น ได้รับรู้และรู้สึกถึงความงดงามจากการได้ศิโรราบต่อพระธรรมชาติ มันช่วยให้หลุดพ้นจากพันธนาการของการอยากเอาชนะเพื่อนมนุษย์ เปลี่ยนจากคู่แข่งให้เป็นเรื่องของมิตรภาพ โดยย้ายสนามแข่งมาไว้ที่ใจของเราเอง เพื่อให้โอกาสตนเองและผู้อื่นได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน ด้วยความรักความเข้าใจจากการยอมรับอย่างไร้เงื่อนไขเพื่อมิตรภาพอันยั่งยืน
มนุษย์เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้นด้วยการนึกคิด คาดเดาตามหลักของเหตุผล การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มีความสำนึกด้วยการตระหนักรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วย “การยอมรับ” ยอมศิโรราบต่อความจริง ยอมรับโดยไม่ปฏิเสธ คือ เมื่อมีอัตตาก็ต้องยอมศิโรราบ เพื่อให้อัตตานั้นยอมรับตัวมันเอง ให้จิตได้เรียนรู้ตัวมันเอง โดยที่ไม่มีเราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่ต้องคิดเพื่อเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงหรือปกป้องใดๆ เพื่อให้อัตตานั้นรอดพ้นจากความตาย หน้าที่ของเรามีเพียงการตระหนักรู้อยู่อย่างนั้น แค่รู้ซื่อๆ แค่ตามดูแต่ไม่ไหลตามไปกับอารมณ์ ทั้งไม่ต่อต้านเพื่อให้อัตตานั้นยังคงอยู่ เมื่อนั้นการตื่นรู้จะเกิดขึ้น ณ ปัจจุบันธรรม ไม่มีผิดไม่มีถูก ไม่มีการตัดสินให้ค่าใดๆ เหลือเพียงความเข้าใจ ยอมรับ ให้อภัย และปล่อยวางตัวเองในทุกๆ วัน
สิ่งที่เข้ามากระทบเพื่อให้เรายอมรับอัตตาของตนเอง เราอาจตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมธรรมชาติจึงต้องส่งบททดสอบมาให้เราเรียนรู้และก้าวข้ามเยอะแยะมากมาย นั่นเป็นเพราะว่า บางสิ่งบางอย่าง ถ้าไม่โดนกับตัวเอง ก็ไม่มีวันเข้าใจ มนุษย์ต้องใช้จิตวิญญาณรับรู้และรู้สึกด้วยตนเอง และยอมรับในทุกความรู้สึกอย่างมีสติ การยอมรับเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการแห่งอัตตา ยอมรับได้ทั้งด้านมืดและสว่างของตนเองเช่นนี้ คือ ความงามที่เกิดจากความเป็นหนึ่งเดียวกับตนเอง
มีหลายสิ่งที่เราต้องทำใจยอมรับมัน อาทิเช่น
1. เราอยู่ในสังคม "เอ๋ออวย" สังคมที่ต้องรักษาบรรยากาศ ต้องพูดอะไรดีดีที่รื่นหู ต้องอวยกันจนเอ๋อไปข้างนึง นี่ก็ดี... นู่นก็ดี... อะไร Ok. ไปหมด แต่ชอบ "ซุกปัญหา" ไว้ใต้พรม เวลาคันจมูกเพราะฝุ่นใต้พรมมันเขรอะ ก็บ่นนั่นบ่นนี่ โบ้ยคนโน้นคนนี้ ตีวนไม่เคยตรงจุด เวลาปวดขี้บอกว่าปวดฉี่ เวลามีปัญหาบอก... ไม่มีอะไร! ไม่เป็นไร! ไม่มีปัญหา! แต่ในใจคิดสวนทางกับสิ่งที่พูด เกิดเป็นการเก็บกดไว้ข้างใน กดดันตัวเอง หมกเม็ดปัญหาที่แท้จริงจนตัวเองเกิดความไม่สมดุล
“อัตตาที่มันไม่ยอมจำนนต่อปัญหา” ก็พาลหลอกตัวเองเพิ่มไปอีก ด้วยกระบวนการ "มโน" ไปเอง เช่น...
> ฉันโอเค ฉันดี ฉันเลิศ
> ฉันเป็นคนรวย ฉันเป็นคนเก่ง
> ฉันเป็นผู้ให้ ฉันสูงส่ง
> เทวดาเลี้ยงฉัน
> ฉันเป็นคนโชคดี
> ดวงดีกว่าคนทั่วไป
> พระเจ้าอวยพรให้ฉัน
> ฉันบริสุทธิ์ ใสสะอาด
.......... ฯลฯ ...........
เมื่อไหร่ที่มีคนมองเห็นปัญหา มายก... มาเปิด... มาแง้ม ความซวยมักปรากฏแก่คนที่ทำ หนักๆ เข้าอาจจำเป็นต้อง "รื้อ" โดยการยกพรมขึ้นสะบัด เพื่อจัดการฝุ่นใต้พรมให้จบๆ ไป เพื่อไม่ให้เจ้าของบ้านต้องเป็นภูมิแพ้จนเสียสุขภาพจิต คนที่มาช่วยยก ช่วยเปิด ช่วยแย้ม ช่วยสะบัด ทำความสะอาดฝุ่นใต้พรมให้นั้น เขาได้อะไรเป็นสิ่งตอบแทนหรือ? จะมีซักกี่คนในชีวิตที่เขาจะยอมซวย มาช่วยจัดการฝุ่นใต้พรมให้กับเรา เพราะทำเมื่อไหร่ คนที่มีปัญหานั้นมักไม่ยอมรับตัวเอง และยังพาลโกรธ พาลเกลียด พาลตำหนิติเตียนคนที่มาช่วยอีกว่า เป็นตัวปัญหาบ้าง เป็นคนสารเลวบ้าง เป็นคนน่ากลัว น่าขยะแขยงบ้าง... ฯลฯ โดยทั้งที่จริงแล้วปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหาของเขาเลย แต่เขาก็ยินดีเสียสละ ยอมทนรับกับฝุ่นใต้พรม และกระแสลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ข้าพเจ้าจึงขอสดุดีผู้กล้าหาญและเสียสละทุกท่าน และขอกราบหัวใจทุกท่านที่ยอมรับและศิโรราบเพื่อก้าวข้ามอัตตาของตนเองอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว แม้จะเจ็บปวดจากการยอมรับที่เกิดขึ้นก็มีความตระหนักรู้ได้ว่า ทุกความเจ็บปวดอันเกิดจากการยอมรับนั้นล้วนเกิดจากการยึดในอัตตาของตนเองทั้งสิ้น หนทางสู่การตื่นรู้นั้นมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มิได้หอมหวานเอ๋ออวยไปตามอำนาจของกิเลส แต่เป็นหนทางที่ทวนกระแสของกิเลส เป็นทางแห่งผู้กล้า ผู้เสียสละ ผู้ทรงสติปัญญา อย่างแท้จริง
2. ความสมบูรณ์แบบทางใจ คือ การยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ ความสมบูรณ์แบบ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามเพื่อทำให้มันสมบูรณ์แบบ เพราะยิ่งพยายามทำมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแรงกดดันมากขึ้นเท่านั้น
หนึ่ง : กดดันจากความกลัว
คือ กลัวจะไม่สมบูรณ์แบบ กลัวเสียภาพลักษณ์ เสียตัวตน กลัวว่าคนอื่นจะมองไม่ดี กลัวคนอื่นจะวิพากษ์วิจารณ์ตนเองในทางที่ไม่ดี กลัวเสีย self กลัวคนเอาไปนินทาในทางเสียๆ หายๆ ต้องพยายามทำให้มันดูดีอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้มีจุดบกพร่อง ไม่ให้ด่างพร้อย ชีวิตต้องเนี๊ยบอย่างไร้ที่ติ
สอง : กดดันจากความยึดติด
คือ หลงยึดติดแต่ด้านดี เลือกเสพแต่พลังงานบวก ปฏิเสธพลังงานลบ พลังชีวิตจึงอ่อนแอลงไปทุกทีเพราะขาดภูมิคุ้มกัน ต้องอาศัยพลังงานจากคนอื่นตลอดเวลา ไม่สามารถเป็นบัวพ้นน้ำได้ เพราะบัวพ้นน้ำกินโคลนตม (คือความทุกข์) เป็นอาหาร เป็นคนไม่หนีปัญหา กล้าเผชิญกับปัญหา กล้าประเมินวิธีปฏิบัติ กล้ายอมรับ กล้าลงมือทำด้วยความรับผิดชอบ
สาม : กดดันจากความไม่พอใจ
เพราะชีวิตต้องการอยู่กับความพอใจตลอดเวลา ต้องดู Ok. ตลอดเวลา ต้องได้ดั่งใจทุกเรื่อง ชีวิตต้องสเตเบิล (stable) ต้องเลิศ ต้องเพอเฟค ต้องท็อปฟอร์ม อยู่กับความขาดตกบกพร่องไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ ชีวิตจึงต้องกดดันอยู่เช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้น
นั่นเป็นเพราะ ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น "ไม่มีคนสมบูรณ์แบบอยู่จริง" โลกยัง "พร่อง" อยู่เป็นนิตย์ ไม่มีจุดอิ่มตัว ไม่มีความสมบูรณ์แบบ ชีวิตตั้งอยู่บนความไม่เที่ยง ศักยภาพมนุษย์มีขีดจำกัดตามธรรมชาติ มีความรู้ความสามารถที่แตกต่าง ไม่มีใครเก่งไปทุกอย่าง ไม่มีใครรู้ (จริง) ในทุกเรื่อง จึงไม่มีคนสมบูรณ์แบบอยู่จริงในโลกแห่งความเป็นจริง ยกเว้นในจินตนาการที่แต่ละคนปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อหลอกตัวเองไปวันๆ เท่านั้น
ความสมบูรณ์แบบทางใจเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มนุษย์ยอมรับว่าตนเองไม่สมบูรณ์แบบ ชีวิตมี "ความพร่อง" เป็นปกติ ไม่พยายามปกป้อง "อัตตา" ของตัวเอง กล้าเผชิญกับ "ความอับอาย" เช่นนี้ด้วยตนเอง กล้าเผชิญมันอย่างไร้เงื่อนไข ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นไม่หลบหนี ไม่กดดันตัวเองให้ต้อง Ok. อยู่ตลอดเวลา
เมื่อการยอมรับอย่างไร้เงื่อนไขได้เกิดขึ้น จิตใจที่ยอมศิโรราบต่อธรรมชาติเช่นนี้ จะเกิดการปล่อยวางสิ่งที่ยึดติดภายในใจ ชีวิตจะสดใหม่อยู่เสมอ ทุกเช้าที่ลืมตาตื่นขึ้นมา คือ จุดเริ่มต้นของพัฒนาตนเองในทุกๆ วัน คุณภาพชีวิตและจิตวิญญาณจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นอยู่จะง่ายขึ้น เงื่อนไขในชีวิตน้อยลง ชีวิตจะโปร่งเบาสบายและปล่อยวาง ดำรงชีวิตตามเหตุตามปัจจัยมากขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ณ ปัจจุบันธรรม
3. กล้ายอมรับเพื่อเผชิญปัญหาด้วยสติปัญญา เจอปัญหาเข้ามาอย่าเพิ่งโวยวาย อย่าเพิ่งบ่น ก่น ด่า มันจะก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ และสร้างทัศนคติแย่ๆ ให้กับคนที่เรามีความสัมพันธ์ด้วย
คนที่เจอปัญหาแล้วชอบบ่น ชอบโวยวาย มันแสดงให้เห็นว่าคนๆ นั้นเป็นคนขี้กลัว คือ ไม่กล้ายอมรับความจริง กลัวที่ต้องเผชิญกับปัญหา มันแสดงให้เห็นถึงความอ่อนต่อโลก วุฒิภาวะทางอารมณ์ และระดับความเข้มแข็งทางจิตใจ
บรรดานักคิด นักวิชาการส่วนใหญ่ เวลาเจอปัญหาก็ชอบเอาปัญหามาวิเคราะห์ มาวิจัย คือ แก้ปัญหาด้วยการคิดเพียงส่วนเดียว ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการปฏิบัติพิสูจน์ทดลอง ขาดการคิดนอกกรอบ คิดนอกตำรา จึงครีเอทหรือสร้างสรรค์นวัตตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาไม่ได้ เลยติดบ่วงความคิด ติดบ่วง PDCA. ติดบ่วงตัวชี้วัดทางสถิติ ติดบ่วงวิธีคิดเชิงระบบ (system thinking) ทุกอย่างต้องเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน ตามทิฏฐิที่ตนหมายมั่นด้วยทฤษฎีต่างๆ ต้องใช้หลักการนี้นะ... แนวคิด ทฤษฎีนี้เท่านั้นนะ... ชีวิตจึงหลงวนอยู่กับปัญหาเหมือนคนหลงทางในเขาวงกรต เหมือนหนูติดจั่นที่ไม่รู้ว่าตัวเองติดจั่น
คนมีสติปัญญา มีความรู้สึกตัว เวลาเจอปัญหาอะไรก็ตาม หนักเบาแค่ไหนก็ตาม ให้ปลงให้วางลงไปเสียก่อน ทำใจไว้ว่า ผลจะออกมาดีหรือร้ายก็ยอมรับโดยสดุดี ศิโรราบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่หวั่นเกรง จนจิตเป็นอิสระลอยอยู่เหนือปัญหา ใจที่ปลอดโปร่งโล่งสบายนี้เกิดจากการยอมรับและศิโรราบต่อธรรมชาติ ไม่ได้ศิโรราบให้กับความอยากได้ดั่งใจของตัวเอง จิตจึงมีพลังและทำทุกวิถีทางอย่างเต็มที่ สุดกำลังความสามารถทางสติปัญญา โดยไม่กังวลถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ผลจะเป็นอย่างไรรับได้หมด พร้อมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกทาง เมื่อจิตเป็นอิสระจากการยอมรับได้เช่นนี้ การแก้ปัญหาจะมีความเหนือชั้น เพราะสติมาปัญญาเกิด จิตใจกล้าแกร่งเข้มแข็ง กล้าเผชิญปัญหา กล้าประเมินวิธีปฏิบัติ กล้าลงมือทำด้วยความรับผิดชอบ
4. คนที่ไม่ยอมใครเลยเป็นชีวิตที่น่าสงสาร
นั่นก็เพราะ
เป็นชีวิตที่ต้องชนะทุกคน
เป็นชีวิตที่ต้องได้เปรียบทุกคน
เป็นชีวิตที่ต้องเก่งกว่าทุกคน
เป็นชีวิตที่ต้องเหนือกว่าทุกคน
เป็นชีวิตที่ต้องรู้มากกว่าทุกคน
เป็นชีวิตที่ถูกต้องกว่าทุกคน
เป็นชีวิตที่ต้องดีเด่นกว่าทุกคน
เป็นชีวิตที่ต้องโด่งดังกว่าทุกคน
เป็นชีวิตที่ต้องดูสูงส่งกว่าทุกคน
ชีวิตแบบนี้ดูเหมือนจะดี
แต่กลับไม่มีเพื่อนแท้ซักคน
นั่นเพราะอะไร?
เพราะมุมมองของชีวิตมีแต่เรื่องการแข่งขันชิงชัย จึงเห็นคนรอบข้างเป็นคู่แข่งไปหมด ไม่เคยเห็นใครเป็นเพื่อนสักคน
เพราะมุมมองชีวิตมีแต่เรื่องความสำเร็จ การได้รับคำเยินยอ การต้องการให้คนยอมรับ จึงเห็นคนรอบข้างเป็นแค่เครื่องมือตอบสนองความสำเร็จ ไม่เคยเห็นคนเป็นคน
เพราะมุมมองชีวิตมีแต่เรื่องการอวดรู้ ยกตนข่มท่าน บ้าคำเยินยอและการยอมรับ ชีวิตจึงมีแต่ความฟุ้งซ่าน มีแต่เรื่องของการผลิตซ้ำทางความคิดและต่อยอดอย่างเป็นอนันต์ ไม่เคยคิดถึงคนอื่นหรือสนใจความรู้สึกของคนอื่นด้วยใจจริงๆ
เพราะมุมมองชีวิตมีแต่เรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว จึงเห็นคนรอบข้างเป็นที่รองมือรองเท้า เมื่อตัวเองรู้สึกด้อยกว่าก็กดตัวเองลงต่ำดั่งทาส แต่เมื่อรู้สึกเหนือกว่าก็ขึ้นเหยียบหัว นั่งบัลลังก์ในฐานะเจ้าคนนายคนที่สูงส่งและอยู่เหนือทุกคน ชีวิตจึงไม่เคยเห็นใครเป็นเพื่อน และไม่มีใครกล้าที่จะเป็นเพื่อน ชีวิตเต็มไปด้วยศัตรูอยู่รอบตัว
ถ้าชีวิตต้องเป็นอย่างนี้
ขอเลือกเป็นคนธรรมดา
ยังมีความสุขเสียกว่า
ขอเลือกใช้ชีวิตอย่างง่ายๆ
ชีวิตที่สนใจคนรอบตัว
ทำความเข้าใจคนรอบตัว
แล้วน้อมสิ่งที่เป็นกุศลเข้าหาตัว
ยอมรับตัวเอง ยอมรับผู้อื่นตามความเป็นจริง
มีความรัก ความเข้าใจ ยอมรับ
และให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์
ชีวิตที่มีเพื่อนกัลยาณมิตร
เป็นเพื่อนกับตัวเอง
เป็นเพื่อนกับคนอื่น
มีเพื่อนร่วมทางไปด้วยกัน
5. การยอมรับคือการศิโรราบ
เกิดขึ้นจากความเข้าใจที่ว่า
#Ep1
อดีตเป็นสิ่งที่ล่วงลับไปแล้ว
อนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
ยอมรับและปล่อยวาง
#Ep2
สุข-ทุกข์ เป็นของชั่วคราว
เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
#Ep3
เมื่ออยากได้ก็ต้องเสีย
เมื่อยึดว่าเป็นผู้ให้ก็ต้องกลายเป็นผู้รับ
เมื่อมีตัวตนก็ต้องแบก ก็ต้องทุกข์
#Ep4
ชีวิตเป็นของเที่ยง
เป็นก็เที่ยงเป็น
ตายก็เที่ยงตาย
ทุกอย่างตามเหตุตามปัจจัย
จะว่าไม่เที่ยงเหมือนคนทั่วไปก็ได้
มันก็แค่ตรรกะทางภาษา เกมความคิด
#Ep5
ใบไม้ในกำมือก็มี
ใบไม้นอกกำมือก็มี
พี่รู้สองน้องรู้หนึ่ง
อย่ายึดมั่นถือมั่น
#Ep6
1 คน 1 คนจริง
7 พันล้านคน 7 พันล้านความจริง
ปล่อยวางทุกความจริง
จะเข้าสู่ความเป็นจริง
#Ep7
ธรรมชาติเป็นเรื่องของธรรมชาติ
ไม่ใช่เรื่องของเราจะเข้าไปตัดสิน
ยิ่งยุ่งยิ่งยาก ยิ่งอยากยิ่งไม่จบ
ยิ่งมีแผน มีเงื่อนไข ยิ่งมากยิ่งทุกข์มาก
ปล่อยวางให้ธรรมชาติเรียนรู้ธรรมชาติ
ด้วยความจริง ความงาม และความรัก
#Ep8
ธรรมชาติยุติธรรมเสมอ
ยิ่งยึดยิ่งเจ็บปวด
ยิ่งโกงยิ่งไม่เหลืออะไร
ยิ่งตัดสินยิ่งไม่เข้าใจ
ควรยอมรับ ทำความเข้าใจ และปล่อยวาง
#Ep9
การไม่มีแผนคือแผนของธรรมชาติ
เมื่อใดที่คิดว่าตนเข้าถึงธรรมชาติ
ธรรมชาติจะส่งทดสอบมาให้ยอมรับ
เพื่อให้ศิโรราบอย่างไร้เงื่อนไข
แม้ตายก็ต้องยอม...
เพราะมันคือความจริงของธรรมชาติ
สิ่งเหล่านี้คือผลสรุปของความงาม
ที่เกิดจากการยอมรับด้วยใจที่ศิโรราบ
#ขอบคุณผู้ชี้
#ขอบคุณเพื่อนผู้มีธรรมเป็นกัลยาณมิตร