ความจริงคืออะไร

ความจริง คือ ความเข้าใจ

ความเข้าใจคือเรื่องของปัญญา

เข้าใจในทุกข์ 

ในเหตุแห่งทุกข์ 

ในความดับทุกข์ 

ในทางแห่งการดับทุกข์

เข้าใจในเหตุปัจจัย (เกิด-ดับ)

เข้าใจในสัจธรรม

 

ความรู้แจ้งในสัจธรรมนี้ 

รวมเรียกว่า "ความมีสติสัมปชัญญะ"

 

ความมีสติสัมปชัญญะ 

รวมไว้ใน "ความรู้สึกตัว"

 

ส่วนการขาดสติสัมปชัญญะ 

รวมไว้ใน "ความไม่รู้สึกตัว"

 

(1) #ความไม่รู้สึกตัว 

นำมาซึ่งความ “ยึด” 

คือ “ยึดเอา-ถือเอา” ในขันธ์ 5 

ในสรรพชีวิต ในสรรพสิ่ง 

ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม

ความยึดนำมาซึ่งทุกข์ 

นำมาซึ่งความเจ็บปวด 

นำมาซึ่งความไม่สมดุล

 

นี่คือลักษณะของความจริง

ที่เกิดจากการยึดเอา ถือเอา

ไม่ยอมรับ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง

ยังฝืน ยังต่อต้าน ยังไม่ยอมศิโรราบ 

ยังหล่อเลี้ยงเอาไว้สนองอัตตาตนเอง 

หล่อเลี้ยงความอยากได้ดั่งใจของตนเอง

ชีวิตจึงเต็มไปด้วยทุกข์ 

ความเจ็บปวด ความไม่สมดุล

นั่นเพราะ “ขาดความรู้สึกตัว” 

ต่อต้านความจริงในตัวเอง

การไม่ยอมรับความจริงในตัวเอง 

คือการไม่ยอมสัจธรรมที่เกิดขึ้น

 

สัจธรรม คือ ความจริง

ความจริง คือ มายา

มายา คือ สิ่งเปลี่ยนแปลง

สิ่งเปลี่ยนแปลง คือ ไม่คงทนถาวร

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

การเรียนรู้สัจธรรม

จึงเป็นการเรียนรู้สิ่งมายา

ทั้งกายสังขารและจิตตสังขาร

มายาคือสังขารปรุงแต่ง

แต่งให้เป็นทวิภาวะ

จึงมีภาษา มีสมมติ มีบัญญัติ

อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์

เพราะยึดติดกับสังขารปรุงแต่ง

จึงไม่เห็นจิตหนึ่งคือความว่าง

ที่รู้ซื่อๆ อยู่อย่างนั้น จิตจึงไม่หลุดพ้น

 

นั่นก็เพราะไม่เข้าใจในความจริง

ทั้งยังไม่ยอมรับในความจริงที่เกิดขึ้น

จึงไม่อาจปล่อยวางความจริงที่เกิดขึ้นได้

เพราะขาดความรู้สึกตัว ไม่ยอมรับ ไม่ปล่อยวาง

 

(2) #ความรู้สึกตัว 

นำมาซึ่งความ “ไม่ยึด” 

คือ “ไม่ยึดเอา-ไม่ถือเอา” 

ปล่อยวางในขันธ์ 5 

ปล่อยวางจากความยึด

ในสรรพชีวิต ในสรรพสิ่ง 

ไม่ยึดเอา-ไม่ถือเอา 

ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม

 

เมื่อ “ไม่ยึด” 

จึงไม่ทุกข์ ไม่เจ็บปวด 

คือ “ไม่อะไรกับอะไร” ในสิ่งที่เกิดขึ้น

มีเพียงอาการ “รู้ซื่อๆ” หรือ “สักแต่ว่า”

ไม่ต้าน แต่ไม่ไหลตาม 

ตามดู แต่ไม่ตามไป

รู้ทุกเรื่อง แต่ไม่เอาเรื่อง

ข้างนอกทำไป ข้างในหยุดนิ่ง

ภายนอกวุ่นวาย ภายในว่างเปล่า

อยู่เพื่อโลก แต่ไม่หลงโลก

อยู่กับสมมติ แต่ไม่ติดสมมติ 

 

ทำทุกอย่างที่เขาทำกัน

แต่ไม่ยึดสักอย่างที่เขายึดกัน

 

เป็นหนูติดจั่นที่รู้ว่าตัวเองติดจั่น

รู้สึกตัวอยู่เสมอด้วยจิตว่าง

เข้าใจถึง "ความรู้สึกนึกคิด"

เข้าใจถึง "ความต้องการ"

เข้าใจถึง "ผลปลายทาง"

รู้รับ รู้เสพ รู้วางตามความเป็นจริง 

คือ ไม่ปักหมุด ไม่ผลิตซ้ำ ไม่ต่อยอด 

ไม่ขยาย ไม่จมแช่ในอารมณ์ 

ไม่ยึดเอา-ไม่ถือเอา ในอารมณ์ 

ในสิ่งที่เป็นมายานำพาให้ทุกข์ใจ 

ศิโรราบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ 

ด้วยการยอมรับ และปล่อยวางลงไป

ตามธรรมชาติแห่งสัจธรรม

 

มีความตระหนักรู้ใน 3 สิ่งสำคัญ 

 

(2.1) #ตระหนักรู้ถึงกฎธรรมชาติ 

 

เพราะธรรมชาติยุติธรรมเสมอ

 

เมื่อมี "ผู้ให้" ย่อมมี "ผู้รับ" 

ปรากฏตัวขึ้นเสมอ

 

เมื่ออยาก "ได้" สิ่งหนึ่ง 

ต้องยอม "เสีย" อีกสิ่งหนึ่งเสมอ

 

เมื่อมีความ "คาดหวัง" 

ย่อมมี "ความสมหวัง" 

และ "ผิดหวัง" รออยู่เสมอ

 

เมื่อมีการแข่งขัน ชิงดี ชิงเด่น 

ย่อมเอา "แพ้" เอา "ชนะ" กันอยู่เสมอ

 

เมื่อภายในยังไม่เติมเต็ม ขาดความสมดุล 

ย่อมเรียกร้องเอาจากสิ่งภายนอกอยู่เสมอ

 

ธรรมชาติมักส่งบททดสอบ 

มาให้เราเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามอยู่เสมอ

 

การยอมศิโรราบต่อธรรมชาติ 

คือการได้ทุกอย่างจากธรรมชาติ

นั่นเพราะ ธรรมชาติยุติธรรมเสมอ

 

(2.2) #ตระหนักรู้ถึงเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง

 

ไม่มีสิ่งใดแยกส่วนออกจากกัน

ทุกอย่างในระบบพลังงานล้วนเชื่อมต่อกัน

ไม่มีความบังเอิญในโลกนี้

ทุกอย่างเกิดขึ้นและดับไป

ตามเหตุ ตามปัจจัย

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี

เปรียบดังวลีแห่งสุนทรียะที่ว่า

เด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว

 

(2.3) #ตระหนักรู้ในปัจจุบันธรรม

 

การไม่มีแผนคือแผน

ชีวิตที่เต็มไปด้วยสติ 

คือชีวิตที่ไร้แผนการ

การไม่มีแผนคือแผน 

ของชีวิตที่เต็มไปด้วยสติ

จักรวาลเรียนรู้ผ่านเรา 

โลกภายนอกเรียนรู้ผ่านโลกภายใน

ข้างนอกฉันใด ข้างในฉันนั้น

ธรรมชาติสมดุลในตัวของมันเอง

แต่มนุษย์ชอบวางแผนให้เป็นไปดั่งใจตัวเอง

เพราะตกเป็นทาสของความทะยานอยาก

จึงต้องวิ่งไปตามความคาดหวัง 

วิ่งไปตามความพอใจ ความไม่พอใจ 

ดิ้นรนเพราะความกลัว ความหลง จนขาดสติ

ไม่มีความเต็มอิ่มให้กับความคาดหวัง

ความพอใจและความไม่พอใจ

เพราะโลกไม่เคยสมดุลได้ด้วยตัณหา

 

สิ่งเหล่านี้คือผลสรุปของความจริง

ที่เกิดจากความเข้าใจด้วยปัญญา

 

#ขอบคุณผู้ชี้

 

#ขอบคุณเพื่อนผู้มีธรรมเป็นกัลยาณมิตร

เมธา หริมเทพาธิป ความจริง ความงาม ความรัก ความเป็นหนึ่งเดียว
เขียน 02 ต.ค. 2566 08:05
ปรับแก้ 02 ต.ค. 2566 08:11