ความจริง ความงาม ความรัก ความเป็นหนึ่งเดียว

ความจริง คือ ความเข้าใจ

ความงาม คือ การยอมรับ

ความรัก คือ การปล่อยวาง

 

ธรรมชาติของความจริง ความงาม ความรัก กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

 

ในความจริง มีความงามและความรัก

ในความงาม มีความรักและความจริง

ในความรัก มีความจริงและความงาม

 

ทั้ง 3 ส่วน เป็นองค์รวม

ของความเป็นหนึ่งเดียว

 

หนึ่งเดียวกับตนเอง

หนึ่งเดียวกับผู้อื่น

หนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง

 

ความจริง ความงาม ความรัก

สู่ความเป็นหนึ่งเดียว ดังนี้

 

#คำถามสำคัญ

 

□ ความจริง ที่ปราศจาก ความงาม และ ความรัก จะเป็นอย่างไร?

□ ความงาม ที่ปราศจาก ความจริง และ ความรัก จะเป็นอย่างไร?

□ ความรัก ที่ปราศจาก ความจริง และ ความงาม จะเป็นอย่างไร?

□ มีความจริงและความงาม แต่ปราศจากความรัก จะเป็นอย่างไร?

□ มีความงามและความรัก แต่ปราศจากความจริง จะเป็นอย่างไร?

□ มีความรักและความจริง แต่ปราศจากความงาม จะเป็นอย่างไร?

 

1. #ความจริงที่ปราศจากความงามและความรัก

 

เมื่อจิตใจของมนุษย์เริ่มสงบ มีความรู้สึกตัว ความคิดและอารมณ์ทั้งหลายจะลดน้อยถอยลง เหมือนฝุ่นตะกอนที่นอนอยู่ใต้โอ่ง 

 

ความใสของจิต 

ทำให้เห็นปรากฏการณ์เกิด-ดับ

การเห็นการเกิด-ดับ คือ การเห็นความจริง

เห็นว่าในใจมนุษย์มีทั้งด้านดีและด้านร้าย

เมื่อไม่เกิด "การยอมรับ" ไม่ทำความเข้าใจและ "ปล่อยวาง" ให้ถึงที่สุดแห่งความว่าง จิตจะเข้าไป "ยึด" ก่อเป็นอัตตาในที่สุด

 

ความจริงที่ปราศจากความงาม (การยอมรับได้ทั้งบวก-ลบ) และปราศจากความรัก (การปล่อยวางอคติ) เช่นนี้ ก่อให้เกิดการจับจ้องตัดสินด้วยอาการทั้งปวง จึงเป็นเรื่องของอำนาจโดยถ่ายเดียว เป็นความแห้งแล้งทางใจ ปราศจากน้ำใจไมตรี ความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์

 

2. #ความงามที่ปราศจากความจริงและความรัก

 

มนุษย์ควรยอมรับสิ่งใดมากกว่ากัน

 

ระหว่าง "ความเป็นจริง"

กับ "สิ่งที่ควรจะเป็น"

 

เมื่อมนุษย์มีแต่ความงาม

คือการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น

โดยปราศจากความจริงและความรัก

 

เขาจะเลือก "ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น" 

โดยไม่สร้างเหตุเพื่อการพัฒนาตนเองและผู้อื่น

เขาจึงเป็นได้แค่ก้อนหินที่มีอยู่จริงแต่ไร้ชีวิตจิตใจ

 

การที่คุณแม่เห็นลูกน้อยหิวนม นี่คือความเป็นจริง

หากคุณแม่ยอมรับเฉพาะ "ความเป็นจริง" ที่เกิดขึ้น

เธอจะปล่อยปละละเลยให้ลูกนั้นหิวนมต่อไป เหมือนก้อนหินที่มีอยู่จริงแต่ไร้ชีวิตจิตใจ

 

แต่หากคุณแม่เลือก "สิ่งที่ควรจะเป็น"

เธอจะให้ลูกน้อยได้กินนมจากอกของเธอ

ด้วยความรักความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ

ด้วยน้ำใจที่บริสุทธิ์ 

 

ความงามที่ปราศจากความจริงและความรัก

ย่อมปราศจากความเข้าใจและการปล่อยวาง

แม้จะยอมรับความเป็นจริงของโลกและชีวิต

แต่ขาดสติปัญญาในการดำรงชีวิตด้วยสัมมาทิฏฐิ

 

แม้จะ "มีชีวิต แต่ไม่รู้จักการใช้ชีวิต"

ด้วยความจริง ความงาม ความรัก

 

3. #ความรักที่ปราศจากความจริงและความงาม

 

ความจริงที่ปราศจากความรักและความงาม

เป็นเรื่องของการจับจ้อง ตัดสิน และอำนาจ

 

แต่หากมนุษย์จะเอาแต่ความรัก โดยปฏิเสธความจริงและความงาม ก็จะกลายเป็นเรื่องของความหลงงมงายเช่นกัน คือ หลงว่า "สิ่งๆ นั้น" คือ รักแท้ ทั้งๆ ที่มันเป็นเพียงความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นจากสุขเวทนาเท่านั้น

 

พื้นฐานของสุขเวทนา คือ ความพึงพอใจ

เป็นอารมณ์ที่มนุษย์ชอบเสพกันเป็นปกติ

 

เมื่อใดที่อยากให้เขารัก 

ก็ต้องทำให้เขาพอใจ

ด้วยการโอบอุ้ม เอาอกเอาใจ 

คอยเติมและตรึงพลังงานด้านบวกเอาไว้

โดยซ่อนพลังงานลบเหมือนซุกฝุ่นไว้ใต้พรม

 

เมื่อใดที่เขาอยากให้เรารัก

เขาก็จะทำเช่นนี้กับเราเช่นกัน

ต่างคนต่างเอ๋ออวยกันด้วยพลังงานบวก

แต่ปฏิเสธพลังงานลบของกันและกัน

ไม่ยอมรับด้านมืดด้านร้ายของกันและกัน

หันแต่ด้านดีเข้าหากัน หล่อเลี้ยงกันด้วยสุขเวทนา

 

ความรักที่ปราศจากความจริงและความงาม

จึงเป็นเรื่องของการเดินตามความพอใจ

แต่ปฏิเสธความไม่พอใจ

เป็นเรื่องของความอยากได้ดั่งใจ

แต่ปฏิเสธถ้ามันขัดอกขัดใจ

 

เมื่อใดที่เชื่อว่า "สิ่งๆ นี้" คือความรัก

เมื่อนั้น... "ความหลงงมงาย" จะเกิดขึ้น

ความรักที่เต็มเปี่ยมด้วยความคาดหวัง 

เป็นเพียงรักที่รอวันล่มจมสลายไป

เพราะเมื่อไม่ได้ดังหวัง

จะกลับกลายเป็นความชิงชัง

ตัดสิน ทักท้วงหายุติธรรม 

รู้สึกว่าโดนหักหลัง 

เพราะใจไม่ได้รักจริง

 

4. #มีความจริงและความงามแต่ปราศจากความรัก

 

ความจริงที่ปราศจากความรัก

มักนำพาให้สติปัญญาตกต่ำ

กลายเป็นเพียงเรื่องการคิด

การวัด การเทียบ การจับจ้อง

การตัดสิน ประเมินค่า

ทำตัวเป็นผู้พิพากษาแต่ไร้น้ำใจ

ชอบเอาไม้บรรทัดของตนเองไปวัดคนอื่น

 

เพราะยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิด้วยความไม่รู้สึกตัว

จึงเชื่อว่า อิทะ เมวะ สัจจัง โมฆะ มัญญัง

ของฉันนี้เท่านั้นจริง ของคนอื่นผิดหมด

 

เมื่อมีความจริงและความงามเกิดขึ้น

จะเลือกยอมรับเฉพาะคนที่เห็นด้วยกับตนเท่านั้น

จึงก่อเกิดความสัมพันธ์แบบหมู่เพื่อน มิตรสหาย

ก่อเกิดกลุ่มก้อน หมู่เหล่า พรรคพวก หนักๆ เข้าจะกลายเป็นพวกกู พวกมึง ศาสนากู ศาสนามึง ฯลฯ

 

พัฒนาจาก I - Center 

(ฉันเท่านั้นเป็นศูนย์กลาง)

กลายเป็น We - Center 

(พวกเราเท่านั้นเป็นศูนย์กลาง)

 

แต่เป็น We - Center แบบ "พวกมากลากไป"

คือลากกันไปลงเหว ดิ่งลึกลงในทิฏฐิ

อันเป็นอาณาจักรลัทธิความเชื่อแบบฝังหัว

ที่ไม่เปิดกว้างทางความคิดกับทิฏฐิที่แตกต่าง

 

กลายเป็นพวกน้ำล้นแก้ว

กาแฟล้นถ้วย กบในกะลา

 

แท้จริงแล้ว

ปัญญาเป็นที่สุดของปัญญา

หาใช่ที่สุดของสรรพสิ่งไม่

สิ่งอื่นๆ เช่น ศรัทธา วิริยะ เป็นต้น ก็เช่นกัน ล้วนเป็นที่สุดแห่งเอตทัคคะ (เป็นเลิศ) ด้วยกันทั้งนั้น

มีคุณค่าและความสำคัญด้วยกันทั้งนั้น

เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

ที่เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว (Oneness)

บนเอกภาพแห่งความหลากหลาย

 

เมื่อใดที่ความจริงและความงาม 

มีความรักเข้ามาเป็นส่วนประกอบ 

จิตใจจะปล่อยวางจากอคติ

ไม่ยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ

รู้จักสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ แสวงหา

รู้จัก "แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง" 

มีความเคารพรักซึ่งกันและกัน

ไม่เบียดเบียนกัน ให้อภัยกัน

สันติภาพจึงเกิดขึ้นได้ด้วยใจที่ปล่อยวาง

เกิดเป็นความจริง ความงาม และความรัก

อันเป็นที่สุดแห่งสรรพสิ่งชั่วนิจนิรันดร์

 

5. #มีความงามและความรักแต่ปราศจากความจริง

 

ความงดงามแห่งรัก

ถือเป็นยอดของความปรารถนา

โดยเฉพาะรักของคนคู่ รักที่ปนราคะ

มันช่างหอมหวาน โรแมนติก

ดื่มด่ำกับน้ำผึ้งพระจันทร์ในโลกสีชมพู

 

เมื่อใดที่ความงามและความรัก

ปราศจากความจริงเป็นพื้นฐาน

ทั่วผืนพิภพโลกหล้าแห่งจักรวาลนี้

จะมองเห็นแต่ความรักอันงดงาม

แต่เป็นโลกส่วนตัวแห่งจินตนาการ

ระหว่างคนที่ตนรักเท่านั้น

หาใช่สิทธิของผู้อื่นผู้ใดไม่

 

ลักษณะความรักเช่นนี้

เป็นความรักที่ถูกกำหนดขอบเขต

ไว้ในเงื่อนไขของสัญชาตญาณอารักขายีนเท่านั้น

คือคิดถึงแต่คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนรัก

แต่ขาดการขยายออกไป ขาดการเผื่อแผ่คนอื่นๆ ในสังคม พลังแห่งความรักจึงมีขีดจำกัดตามขนาดของอัตตาที่ขีดกรอบเอาไว้เพื่อ "เลือก" เฉพาะคนที่รู้สึกว่า "คู่ควรแก่การได้รับความรักจากตน" เท่านั้น

 

ทั้งที่ความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนในโลกล้วนเชื่อมต่อ เป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ทุกการสร้างเหตุของแต่ละคนล้วนส่งผลถึงคนอื่นๆ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดังคำวลีอันเพราะพริ้งแต่เป็นความจริงที่ว่า "เด็ดดอกไม้ สะเทือนดวงดาว" ความรักที่ถูกจำกัดขอบเขตเช่นนี้เป็นเหตุให้จิตใจไม่เติบโตก้าวหน้าอย่างที่มันควรจะเป็น ยังจำกัดอยู่ในเรื่องสิทธิ ความเป็นส่วนตัว ยิ่งส่วนตัวเท่าไหร่ยิ่งดี ยิ่งหลีกหนีผู้คนได้เท่าไหร่ยิ่งดี จึงไม่เคยได้สัมผัสความรักที่อยู่เหนือสัญชาตญาณสัตว์ อันเป็นความรักสากล เป็นความรักความเข้าใจง่ายๆ ที่มนุษย์ทุกคนสามารถให้กันได้

 

ความงดงามแห่งรัก หากได้ความจริงมาเติมเต็ม ก็จะสามารถรักเพื่อนมนุษย์ได้ตรงตามความเป็นจริง 

> จากที่มีกรอบ กลายเป็น ไร้กรอบ

> จากที่เลือกรัก กลายเป็น รักสากล

> จากรักส่วนตัว กลายเป็น รักทั่วไป

> จากที่ครอบครอง กลายเป็น การให้และแบ่งปัน

> จากสัญชาตญาณสัตว์ กลายเป็น สัญชาตญาณปัญญา (ปัญญา + ความรักและความงาม)

> จากรักมีเงื่อนไข กลายเป็น รักที่ไร้เงื่อนไข

> จากไม่เชื่อมต่อ กลายเป็น เชื่อมต่อ

> จากที่มีขีดจำกัด กลายเป็น ไร้ขีดจำกัด

 

กลายเป็น Uncondition Love

กลายเป็น Infinity Love

เป็นรักที่เชื่อมต่อ แต่ไม่เกาะเกี่ยว

เป็นรักที่เกิดจากการปล่อยวาง

เป็นรักง่ายๆ ที่มนุษย์มอบให้กันได้

 

6. #มีความรักและความจริงแต่ปราศจากความงาม

 

ปัญญาที่ปราศจากความรัก 

มักแปรเปลี่ยนเป็นอำนาจและการตัดสิน

เพราะใช้แต่ความคิด แต่ไร้ความรู้สึก

 

ความรักที่ปราศจากปัญญา

มักแปรเปลี่ยนเป็นความลุ่มหลง มัวเมา ขาดสติ

เพราะใช้แต่ความรู้สึกและศรัทธา แต่ขาดความจริง

 

เมื่อใดที่ (ใจ) เธอ "ตื่น" ขึ้น ด้วยความรักและความจริง เธอจะไม่ตัดสิน ไม่ต่อต้าน ไม่ไหลตามความพึงพอใจใดๆ ในโลก เพราะใจเธอยอมรับและให้อภัยตัวเองได้ เธอมีความอ่อนโยน เข้าใจในความผิดพลาดและความเจ็บปวด เมื่อเธอเมตตาตนเองได้เช่นนี้ ชื่อว่า เธอได้เป็นเพื่อนกับตัวเธอเอง เพียงแค่เธอได้กอดตัวเอง เพียงเท่านี้ก็มีความสุขแล้ว

 

เธอได้รู้ตามความเป็นจริงว่า 

ความทุกข์ทั้งหลายล้วนเป็นของสาธารณะ

มีอยู่ประจำธาตุ ประจำขันธ์

สิ่งเหล่านี้หาใช่ของใครไม่

เป็นเพียงสภาวะ เป็นเพียงเหตุปัจจัยไหลเวียนมากระทบให้เธอได้รับรู้ ให้เธอได้รู้สึก ให้เธอได้ปล่อยวางตามความเป็นจริง 

 

เธอได้รู้ตามความเป็นจริงว่า

เมื่อใดก็ตามที่เธอยึดถือมัน

ว่าเป็นตัวเธอ เป็นของๆ เธอ

เมื่อนั้นเธอจะไร้เสรีภาพ

ความรักของเธอจะถูกกังขังเอาไว้

เพราะเธอไม่ได้ปลดปล่อยตัวเอง

จากความเป็นทาสของอัตตา ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

 

การตื่นรู้เป็นเพียงขั้นเริ่มต้น ความรักและปัญญาเป็นส่วนประกอบ หากปราศจากความงาม เธอจะขาดโอกาสเชื่อมต่อ (the Connected Universe) "ความจริง ความงาม ความรัก" ในเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง

 

เมื่อเธอเป็นหนึ่งเดียวกับตัวเองได้แล้ว

เธอจงเป็นหนึ่งเดียวกับผู้อื่นและสรรพสิ่งต่อไป

เพราะการตื่นรู้ใดๆ หากยังไม่จบซึ่งพรหมจรรย์

ผู้มีธรรมเป็นกัลยาณมิตรทั้งหลายก็ยังมีไว้เพื่อรับรองสรรพสิ่งแห่งพรหมจรรย์ของเธอ

 

พรหมจรรย์ หมายถึง หนทางอันบริสุทธิ์ หนทางอันเป็นที่สุด ที่ศาสดาทุกพระองค์ทรงประกาศให้เป็นที่ประจักษ์ในทุกภพ ทุกชั้น ทุกภูมิ ทางแห่งพรหมจรรย์ต้องอาศัย "ผู้ชี้" ต้องอาศัย "เพื่อนผู้มีธรรมเป็นกัลยาณมิตร" ที่จะเดินร่วมทางไปกับเธอ ในฐานะของเพื่อนมนุษย์ อันเป็นมรรคาแห่งศาสดาทั้งหลายได้ดำเนินมาแล้วนั้น

 

เมื่อเธอ "ตื่น" ออกจากการยึดมั่นถือมั่นในตนเอง แต่ไม่เชื่อมต่อกับเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง ปลายทางของเธอจะจบลงด้วยความเสื่อม เพราะทุกสิ่งมีการเกิดดับในตัวมันเองเป็นตถตา (คือเป็นเช่นนั้นเอง)

 

เริ่มต้นจากการหลงตัวเอง 

ความเพลิน (นันทิ) ในอัตตา 

คะนองความคิด คำพูด การกระทำ 

การสร้างอัตตาซ้อนอัตตา 

การ "ผลิตซ้ำ" ความซับซ้อน

ความทุกข์ที่ถาถมจนเศร้าหมอง

ความเสื่อมปรากฏ สติปัญญาถดถอยในที่สุด

 

เมื่อใดที่จิตเชื่อมต่อได้ 

มิตรภาพจะปรากฏ

การเรียนรู้ครั้งใหม่จะเกิดขึ้น

เป็นจิตดวงใหม่ที่สดอยู่เสมอ

ยอมรับได้ทั้งกระแสลบบวก

ปล่อยวางได้ทั้งเรื่องดีและร้าย

เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น

เข้าใจสรรพชีวิตและสรรพสิ่ง

ตามความเป็นจริง

มีสติเต็มตื่น เป็นหนึ่งเดียว

ด้วยความจริง ความงาม และความรัก

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ หากมีความรักและความจริง แต่ปราศจากความงาม ก็จะหลงเอาสิ่งที่ได้รับนี้มาครอบครองเป็นของตนแต่ผู้เดียว จึงขาดการแบ่งปัน ส่งต่อระบบพลังงานให้เชื่อมต่ออย่างที่ควรจะเป็น เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมถอย การเดินทางภายในไม่ก้าวหน้าอย่างที่มันควรจะเป็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเพื่อนผู้มีธรรมเป็นกัลยาณมิตรในเบื้องต้น และขยายระบบพลังงานให้เชื่อมต่อกับเพื่อนมนุษย์ สรรพชีวิต และสรรพสิ่งอย่างเป็นสากลต่อไปด้วยใจที่ปล่อยวาง

 

#ขอบคุณผู้ชี้

#ขอบคุณเพื่อนผู้มีธรรมเป็นกัลยาณมิตร

เมธา หริมเทพาธิป ความจริง ความงาม ความรัก ความเป็นหนึ่งเดียว
เขียน 02 ต.ค. 2566 08:25
ปรับแก้ 02 ต.ค. 2566 08:25