อกาลิโก ( ไร้กาลเวลา : Timelessness)

     เมื่อกล่าวถึง ธรรมะเป็นอกาลิโก มีความหมาย 2 นัย
นัยแรกคือสัจธรรมนั้นไร้กาลเวลา
นัยที่สองคือผลการปฏิบัติธรรมไม่ขึ้นกับเวลา
 
     ในความจริงของสรรพสิ่ง ทั้งโลกและจักรวาลที่ดำเนินไปนั้นไร้กาลเวลา สรรพชีวิตในธรรมชาติก็ไม่รู้จักเวลา เพียงอาศัยจังหวะของการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อม ทั้งแสงแดด กระแสลม น้ำขึ้นน้ำลง เป็นตัวกำหนดการใช้ชีวิต
 
      เวลาคือ สิ่งสร้างโดยจิตสำนึกในการดำรงอยู่ (อัตตา) แยกโลกสมมติออกจากความจริงแท้ ดังที่ กฤษณะมูติกล่าวว่า " ความคิดและเวลาอยู่ด้วยกันเสมอ (Thought and time are always together) " ถ้าปราศจากความสนใจในตัวตน เวลาก็จะไม่มี เช่น เวลานอนหลับ หรือ ช่วงทำงานอย่างจดจ่อเพลิดเพลิน ไหล( flow ) ไปกับกิจกรรม รู้สึกช่วงเวลาความสุขจะผ่านไปเร็วมาก แต่ตรงกันข้าม หากจดจ่อกับตัวฉัน ซึ่งกำลังติดกับดักความคิดลบ และจมอยู่ในอารมณ์ทุกข์ จะรู้สึกว่าช่วงเวลานั้นช่างผ่านไปช้าและยาวนานเหลือเกิน
 
     ในนัยของการปฏิบัติธรรม ไม่อาจรู้ได้เลยว่าเมื่อใดจะบรรลุธรรม ยิ่งคาดหวังกดดันเท่าไร กลับกลายเป็นอุปสรรค ซึ่งความพยายามของตัวตนนั่นเองที่เข้าไปขวางกั้นการรู้แจ้งอยู่ ความหวังแม้เป็นตัวช่วยให้มุ่งมั่นในการปฏิบัติ แต่ก็กลายเป็นสิ่งขวางกั้นในเวลาเดียวกัน เป็นความย้อนแย้ง ซึ่งเกิดจากความคิดตัวตนกับความจริง
 
     ในธรรมชาติ ผลไม้บนต้นเดียวกัน แม้จะได้อากาศ น้ำ ปุ๋ยเท่ากันก็ยังสุกงอมไม่พร้อมกัน ความเข้าใจนี้จะช่วยให้มีมุมมองในการปฏิบัติธรรมว่า จงพากเพียรปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา สม่ำเสมอและต่อเนื่อง จนเป็น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เหมือนคนกินข้าวไปทีละคำๆ เมื่อถึงเวลาอิ่ม ข้างในจะบอกเองว่าอิ่มแล้ว โดยไม่ต้องคาดหวังว่าเมื่อไรจะอิ่ม? ทำไมยังไม่อิ่ม ?
 
     เราไม่สามารถพยายามที่จะไร้ความพยายามได้ แต่เมื่อถึงจุดวิกฤติ (critical point) ที่มุ่งมั่นพยายามปฏิบัติไปถึงที่สุด สภาวะภายในจะบอกเองว่า พอ.. หยุดได้แล้ว.. และจะหลุดเข้าสู่ภาวะการไร้ความพยายามเอง ขาดสะบั้นจากความคิดความคาดหวังและความกลัว โดยไม่มีตัวเราเข้าไปทำอะไรกับอะไรเลย เปรียบเหมือนผลไม้สุกงอมแล้วหลุดหล่นจากต้นไม้เอง ประจักษ์แจ้งความจริงว่าตัวตนนั้นเป็นหนึ่งกับทุกสรรพสิ่งซึ่งไร้กาลเวลา นี่จึงเรียกว่า ธรรมะเป็นอกาลิโก
รศ.นพ.ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ จิตแพทย์
เขียน 03 ต.ค. 2566 15:08
ปรับแก้ 03 ต.ค. 2566 15:09