แนวทางการดูแลจิตใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคม ( สำหรับประชาชนที่รับรู้ข่าวสารเหตุการณ์)

 
* ในเบื้องต้น
- หลีกเลี่ยงการดูภาพ จดจ่อติดตามรับรู้ข่าวซึ่งอาจจะเสริมเพิ่มให้เกิดอารมณ์ร่วม หดหู่ตาม และในสมองคนเรามี เซลล์ประสาทกระจกเงา (mirror neurons) สามารถคัดลอก (copy)และบันทึกความรุนแรงลงไปเก็บไว้ ซึ่งจะฝังในใจเราได้อย่างไม่รู้ตัว
 
- ส่งจิตปรารถนาดีให้ผู้บาดเจ็บได้หายป่วยโดยเร็ววัน อุทิศกุศลแด่ผู้จากไปสู่สุคติ และการภาวนาแผ่เมตตา
 
- ดูแลกิจวัตรประจำวัน อาหาร ออกกำลังกาย งานอดิเรก การสัมผัสธรรมชาติที่สงบ การนอนหลับพักผ่อน ให้เป็นปกติ
 
** ขั้นต่อมา
- รับรู้และ ยอมรับอารมณ์ ตกใจกลัว เสียใจ เศร้า ที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็น แล้วถอยคลายใจออกมาเฝ้าดู มีสติ ไม่ปล่อยให้หลงตามอารมณ์นั้น
 
- แปรเปลี่ยนความหดหู่ เป็นความกรุณาเห็นอกเห็นใจในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ยิ่งๆขึ้น
 
- เรื่องที่เกิดขึ้นอาจไปกระทบโดนจุดอ่อนในใจบางอย่างของเรา หรือมีประสบการณ์ในอดีตร่วมด้วย เช่น การได้รับความรุนแรง การทำร้าย ความไม่เป็นธรรม ก็รับรู้โดยแยกแยะให้เห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน ความคิดใดๆจะมีพลังก็ต่อเมื่อเราเชื่อและคล้อยตามความคิดนั้น หากเราแค่รู้ ความคิดจะหมดพลังไปเอง
 
- นำบทเรียนความทุกข์ที่พบเห็นในชีวิตและในสังคมที่ผู้คนยังต้องเผชิญความทุกข์อยู่ ไปสู่การปฏิบัติธรรมพ้นทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ด้วย
 
หมายเหตุ : - หากเกิดภาวะจิตตก เศร้า เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ต่อเนื่องนานเป็นสัปดาห์ ควรไปพบปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
รศ.นพ.ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ จิตแพทย์
เขียน 01 ต.ค. 2566 04:57
ปรับแก้ 01 ต.ค. 2566 04:57