5 เหตุผลที่ทำให้คน Burnout และบทบาทของผู้นำ

คนทำงานในยุคนี้คงคุ้นเคยกับคำว่า Burnout หรือหมดไฟในการทำงาน ซึ่งในปี 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่าภาวะนี้ เป็นกลุ่มอาการ
ที่เฉพาะเจาะจงเรื่องอาชีพ (Occupation) ซึ่งเราจะได้ยินว่ามีคนเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมาก
ต่อสุขภาพภาพกาย และจิตใจของคนทำงานเอง และส่งผลต่อประสิทธิภาพงาน รวมถึงการเติบโตขององค์กรด้วย
.
Gallup (2018) ได้สำรวจจาก 15 องค์กรที่มีคนเกิดภาวะ Burnout มากที่สุด ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
.
1. ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม (Unfair) เช่น หัวหน้าลำเอียง สองมาตรฐาน การได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ไม่ไว้วางใจหัวหน้า
รวมถึงเพื่อนร่วมงานด้วย

2. ภาระงานมากเกินไป (Workload) ทำให้รู้สึกท่วมท้น และสิ้นหวังเมื่อจัดการงานไม่ได้ เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ คนทำงานก็คาดหวังว่าหัวหน้า
จะเป็นกระบอกเสียงเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมได้

3. หน้าที่ไม่ชัดเจน (Role Clarity) ในบางครั้งคนทำงานอาจจะไม่ได้รับความชัดเจนถึงของเขตหน้าที่ ความคาดหวัง รวมถึงเป้าหมายที่องค์กรต้องการ
ทำให้ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร เพื่ออะไร หัวหน้าจึงควรพูดคุยถึง เป้าหมาย ขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบให้ รวมถึงความคาดหวังที่ต้องการให้ชัดเจน

4. ไม่ได้รับการสื่อสารและสนับสนุนจากหัวหน้า ในหลายองค์กรที่หัวหน้าคอยรับฟัง สื่อสารกับทีมงานเสมอ คนทำงานจะรู้สึกอุ่นใจ แต่ในทางตรงข้าม
หลายครั้งที่หัวหน้าไม่มีเวลา สื่อสารกับทีมงาน ก็จะทำให้เมื่อทีมงานเผชิญปัญหาก็รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้รับการสนับสนุน

5. เกิดการบีบคั้นด้วยเวลา ในปัจจุบันที่ทุกอย่างเร่งรีบ มีแต่งานที่เร่ง เร่งกว่า และเร่งที่สุด เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คน Burnout เพราะไม่สามารถส่งมอบ
งานที่มีคุณภาพได้ทันกับเวลาที่มี 

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ หัวหน้าหรือผู้นำองค์กรจึงควรป้องกันสาเหตุดังกล่าว รวมถึงคอยสังเกตทีมงานของเราว่ากำลังเผชิญกับสถานการณ์ไหน เพื่อยื่นมือเข้าไปช่วย
แก้ไขได้ทันท่วงที
.
ซึ่ง Jennifer Moss (2019) จาก Harvard Business Review ได้เสนอว่าหัวหน้าควรมีบทบาทที่ช่วยป้องกันอาการ Burnout ไม่ให้เกิดกับทีมงาน ดังนี้
.
สร้างแรงจูงใจ (Motivation) และปัจจัยสุขอนามัย  (Hygiene Factor)

โดย Frederick Herzberg ได้กล่าวว่าผู้นำจะต้องสร้างปัจจัยสุขอนามัย คือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน เช่น นโยบาย ค่าจ้าง ความสัมพันธ์ เพราะหากขาดสิ่งเหล่านี้
จะทำให้คนทำงานไม่พึงพอใจ นอกจากนั้นยังต้องเสริมสร้างแรงจูงใจ ให้ตรงกับคนทำงาน เช่น การสำเร็จ การยอมรับนับถือ ความรับผิดชอบและอำนวจตัดสินใจ ลักษณะ
ของงานที่มีคุณค่า และความก้าวหน้า โดยหัวหน้าจะต้องเสริมสร้างแรงจูงใจให้ตอบโจทย์แต่ละบุคคลด้วย
.
ตั้งคำถามที่ดี

การที่ผู้นำตั้งคำถามจากช่วยให้เข้าใจทีมงาน และสร้างการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการทำงานที่ดี เช่น

- ถ้าฝ่ายเรามีงบประมาณ xxx บาท พวกเราคิดว่าเราควรใช้ทำอะไรเป็นลำดับแรก 
- อะไรที่เราควรเปลี่ยนแปลง
- อะไรที่เราควรคงอยู่ต่อไป
- เครื่องมือหรือเทคโนโลยีอะไรบ้างที่เราต้องการการสนับสนุน
.
คำถามนี้จะช่วยให้ทีมงานได้ออกความเห็นในการส่งเสริมการทำงาน หรือแก้ปัญหาในการทำงานที่ตรงใจของพวกเขา ซึ่งในบางครั้งการส่งคำถามผ่าน Google form
ก็อาจจะไม่ได้รับคำตอบเพียงพอ ผู้นำอาจจะต้องเข้าไปหาทีมงานและพูดคุยอย่างเป็นกันเองเพื่อทำความเข้าใจทีมงานมากยิ่งขึ้นว่าเขาคิดอย่างไร และป้องกันรวมถึง
แก้ไขได้ตรงจุด โดยการจัดกิจกรรมเสริมสุขภาวะ เช่น การฝึกสติ โยคะ หรือจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการฟื้นคืนพลัง (Resilience) ก็สามารถทำควบคู่กันไปได้ค่ะ

บทความโดย ฐิตา ภัทรวรวิศิษฏ์ (อ.ปุ๊)

Delighten group
Surf the waves of change
https://www.delighten.co.th/thita/

 

Thita Phat Trainer, Facilitator & Coach
เขียน 12 ต.ค. 2566 22:21
ปรับแก้ 12 ต.ค. 2566 22:33