Diversity, Equity and Inclusion สำคัญอย่างไรในการทำงานร่วมกัน

Diversity, Equity and Inclusion
ความหลากหลาย, ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม
.
ในยุคปัจจุบันที่โลกไร้พรมแดน การทำงานร่วมกันในองค์กรที่มีความหลากหลาย เช่น อายุ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฯลฯ หากคนในองค์กรไม่สามารถเห็นคุณค่า โอบรับความหลากหลาย มีการบริหารงานแบบเลือกปฏิบัติ โดยไม่มีความเสมอภาค ยุติธรรม คนในองค์กรจะเกิดอคติในความแตกต่าง เกิดการแบ่งพรรคพวก ขัดแย้งกัน ทำให้รู้สึกแปลกแยก ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และนำมาสู่การทำงานที่ต่างคนต่างทำ (Silo) ซึ่งส่งผลกระทบต่อองค์กรในภาพรวม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากที่องค์กรจะต้องมีการบริหารความหลากหลาย ด้วยความเสมอภาค เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม หรือ Diversity, Equity & Inclusion (DEI) นั่นเอง
.
Diversity - หมายถึง ความสามารถในการโอบรับความหลากหลาย เช่น เชื้อชาติ ศานา เพศ อายุ การศึกษา ความเชื่อ ลักษณะทางกายภาพ ฯลฯ ในการทำงานร่วมกัน
.
Equity - หมายถึง ความเข้าใจและการปฏิบัติต่อกันด้วยความเสมอภาค และยุติธรรม เช่น รายได้ โอกาสการก้าวหน้าเติบโต นโยบาย โดยให้การสนับสนุนแต่ละบุคคลอย่างเหมาะสม (อาจจะไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกคน)
.
Inclusion - หมายถึง การตระหนักถึงคุณค่า และเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล (Uniqueness) สร้างความรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงออก การรับฟัง สร้างการมีส่วนร่วม
.
ปัจจุบันหลายองค์กรหันมาใส่ใจในเรื่อง DEI มาก ข้อมูลจาก Sustainability รายงานว่า 53% ของบริษัทใน Fortune 500 มีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง เช่นตำแหน่ง Chief Diversity Officer (CDO) หรือ Chief Diversity, Equity & Inclusion (CDEIO) เพื่อดูแล DEI ในองค์กรโดยเฉพาะ  เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อบริหาร DEI และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อองค์กร เช่น
.
1. กระตุ้นความสร้างสรรค์ส่งเสริมนวัตกรรม ทีมที่มีความหลากหลายจะมีมุมมอง ความคิด ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ช่วยให้ทีมขยายมุมมอง สู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้
.
2. การตัดสินใจที่ดีขึ้น เมื่อทีมที่มีความหลากหลาย ได้รับความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น และรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าขององค์กรร่วมกัน ก็จะช่วยคิด ช่วยแก้ปัญหา เสนอมุมมองหลายหลาย รอบด้าน ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
.
3. สร้างความพึงพอใจในการทำงาน และความผูกพันต่อองค์กร (Engagement) เมื่อองค์กรบริการงานด้วยความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นรายได้ การเติบโต สิทธิต่างๆ และทีมงานทุกคนรู้สึกว่าตนมีคุณค่าต่อองค์กร ก็จะส่งเสริมให้ทำงานด้วยความพึงพอใจ และมีความผูกพันต่อองค์กร
.
4. ช่วยให้ Talent สนใจร่วมงาน และทำงานในระยะยาว องค์กรที่ส่งเสริม DEI จะดึงดูดให้ Talent ที่มีความหลากหลายอยากร่วมงานด้วย ซึ่งหากองค์กรรักษา Talent ไว้ได้ยาวนาน ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพขององค์กรที่ดีขึ้น
.
5. ส่งเสริมการรับผิดชอบต่อสังคม การที่องค์กรส่งเสริม DEI จะช่วยส่งเสริมการตระหนักรู้ต่อสังคม ในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อ การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการไม่แบ่งแยก (Discrimination) การมีอคติ ลำเอียง หรือบูลลี่กันในเรื่องต่างๆ เช่น สีผิว เชื้อชาติ เพศ LGBTQ ศาสนา การเมือง สภาพทางร่างกาย ฯลฯ ซึ่งจะช่วยสร้างให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขยิ่งขึ้น
.
การส่งเสริม DEI ไม่ใช่เรื่องของผู้นำ หรือ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมาจากการตระหนักรู้ของทุกๆ คนในองค์ที่จะร่วมสร้างสรรค์ ส่งเสริม และขับเคลื่อนองค์กรเพื่อสร้างความสำเร็จ และความสุขในการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน

.

ฐิตา ภัทรวรวิศิษฏ์ (อ.ปุ๊)

www.delighten.co.th

Thita Phat Trainer, Facilitator & Coach
เขียน 06 พ.ย. 2566 18:19
ปรับแก้ 06 พ.ย. 2566 20:49