บันทึกจาก Oxford: บทที่ 6 Development Resilience

วันนี้เรียนหัวข้อ Development Resilience
Jan 31, 2024

บทความนี้ คือ บันทึกการเรียนรู้จาก Oxford, UK
เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตร Oxford Positive Psychology

Resilience คือ อะไร

Resilience (รี-ซี-เลียนซ์) มาจากรากศัพท์ภาษาลาตินว่า "Resilire" แปลว่า กระโดดหรือกระโจนกลับ "to leap back"  ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งชีวิต เรือใบหลายลำออกเดินทาง อุปมาเหมือนกับชีวิตของผู้คน เมื่อเจอพายุฝนฟ้าคะนอง คลื่นกระหน่ำ จะมีเรือบางลำที่ไปต่อไม่ได้ และมีเรือบางลำที่ยังคงไปต่อได้ อุปมาการปรับเปลี่ยนเชิงบวกท่ามกลางความยากลำบากเช่นนี้ว่า "Resilience" แปลเป็นไทยว่า "การฟื้นคืนพลัง", "การฟื้นพลัง", "การฟื้นตัว" ขึ้นอยู่กับบริบทที่ใช้ เช่น บริบทองค์กร บริบททางการทหาร หรือ บริบททางการกีฬา เป็นต้น โดยสามารถการฟื้นคืนพลังได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

  • (1) trait level คือ บุคลิกลักษณะที่ทำให้ผู้คนปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เผชิญ และ
  • (2) state level คือ กระบวนการไม่ใช่สภาวะที่ตายตัว เปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์หนึ่งไปสู่อีกสถานการณ์หนึ่งตลอดชีวิตและพัฒนาได้

Savoring

เมื่อเราดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม หรือดื่มด่ำในเหตุการณ์เชิงบวก (Savoring) จะทำให้เกิดอารมณ์เชิงบวก และช่วยให้สามารถเผชิญอารมณ์เชิงลบได้ดีขึ้น ในขณะที่ Gable, Reis and Elliot (2000) กล่าวว่า โดยทั่วไปเรามีประสบการณ์เชิงบวกมากกว่าประสบการณ์เชิงลบ 3 เท่า แต่เนื่องจาก Negative Bias จึงทำให้เราจดจำประสบการณ์เชิงลบได้มากกว่า ดังนั้น การ Feedback ทีมงาน จึงควรสื่อสารเป็นการส่วนตัวแทนที่การสื่อสารต่อสาธารณะ เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิดส่งผลเสียหายแก่ทีมงานผู้ที่รับ Feedback ได้

Attentional Processes

สังเกตเรื่องราวเชิงบวกในแต่ละวันแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม "Every day may not be good... but there's something good in every day" มีสติระวัง Negative Bias ฝึก Let go เมื่อติดอยู่ในวงจรเชิงลบ และไม่ใช้การมุ่งเน้นเชิงบวก เพื่อทับความรู้สึกที่เกิดจากเหตุการณ์ในชีวิตที่เป็นเชิงลบ

กระบวนการ Three Good Things (What Went Well หรือ Hunt the Good Stuff) คือ การคิดถึงสิ่งดี ๆ ในแต่ละวัน แล้วเขียนออกมา รวมถึงสะท้อนว่าเพราะอะไรจึงเกิดขึ้น มีการศึกษามากมายพบว่ากระบวนการนี้ ช่วยให้เรากิดสุขภาวะที่ดี ลดภาวะซึมเศร้าได้

Beliefs

เชื่อว่าเหตุการณ์เชิงลบ คือ ความท้าทายที่เราสามารถเรียนรู้และเติบโตได้จากประสบการณ์เหล่านั้น เห็นประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น และมีมุมมองแบบ Optimism เชื่อว่าอนาคตเชิงบวกเป็นไปได้ ไม่ใช่คิดแบบไร้เหตุผล แต่คือการไม่คิดในเชิงลบ

กิจกรรม Walking Down the Street จินตนาการถึงเหตุการณ์ที่ดูเหมือนว่าคนอื่นจะละเลยการทักทายจากคุณ คุณจะคิดอะไร รู้สึกอย่างไร อยากเพิ่มความคิด ความรู้สึกอะไร ได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนี้ และครั้งต่อไปคุณจะทำอย่างไร กระบวนการนี้ สามารถนำไปบูรณาการกับเรื่องการสื่อสารอย่างสันติ ในส่วนที่เป็นการสื่อสารแบบความเข้าใจตนเองเข้าใจผู้อื่น หรือตัดสินตนเองตัดสินผู้อื่น ข้อสังเกต คือ บางทีเราอาจจะคิดหรือพูดแบบฝืนใจตนเอง ดังนั้น เราอาจไม่สามารถอ้างอิงความถูกต้องได้ผ่านความคิดหรือคำพูด แต่จะคมชัดกว่าถ้าเราสืบค้นถึงระดับความรู้สึก เราจึงอุปมาความรู้สึกหรือารมณ์ว่าเป็นเข็มทิศของการเดินเรือ

กิจกรรม Benefit finding (Silver Lining, No Mud No Lotus) นึกถึงเหตุการณ์เชิงลบหรือความเจ็บปวดในอดีต แล้วมุ่งเน้นมองหาส่วนที่ดีที่เป็นเชิงบวก จากนั้นสะท้อนว่าเราเปลี่ยนแปลงหรือเติบโตจากเหตุการณ์นั้นได้อย่างไร คำแนะนำเพิ่มเติม คือ การบ่มเพาะ Emotional Grounding หรือการดำรงอยู่ในปัจจุบัน ร่วมกับการทำกระบวนการนี้ ในกระบวนการนี้ ผมเห็นถึงจุดเปลี่ยนในวัยรุ่นที่เคยสนใจการศึกษาในระบบ จากนั้นมีเหตุการณ์เชิงลบ ทำให้กลายเป็นคนที่ปฏิเสธการศึกษาในระบบ แล้วเลือกที่จะมุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์แทน จนทำให้มีโอกาสพบการเรียนรู้ด้านใน ซึ่งเป็นสุดยอดคุณค่าในชีวิต จนเกิดความเข้าใจในตนเอง จึงตัดสินใจเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับชีวิต ด้วยการเปิดรับการศึกษาในระบบอีกครั้ง หมายถึง การศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

กิจกรรม The Best Possible Self เพื่อกระตุ้นมุมมองแบบ Optimism ในอีก 10 ปีข้างหน้า พบจินตนาการเห็นตัวเองนั่งในบ้านที่สงบ สบาย อากาศดี ใกล้ชิดธรรมชาติ มองออกไปยังคงเห็นสังคม ชุมชน และเพื่อน ๆ กำลังมีความสุข เบิกบาน ภาพในจินตนาการนี้ หมายถึง การพัฒนาแพลตฟอร์ม "ไอ อิน นาว" ให้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้และส่งเสริมการพัฒนาด้านใน มีระบบในการดูแลชุมชนที่ลงตัว มีเพื่อน ๆ ได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม และผมจะมีเวลาบ่มเพาะการเรียนรู้และการพัฒนาด้านในให้กับตัวเองมากขึ้น เรียกว่า เป็นชีวิตที่มีความสงบท่ามกลางสีสันของสังคม หลังจากแบ่งปันแล้วรู้สึกถึงความเป็นไปได้ มีความหวัง และมีบางเสี้ยวส่วนในความคิดที่ต้องอาศัยความพยายามในการขยับปรับเปลี่ยน ให้ภาพอนาคตเป็นจริงด้วยเหตุผล นั่นคือ ส่วนของการพัฒนาแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจจะเกิดจากการขยายความสามารถของตนเอง หรือเกิดจากการหาทีมงานมาพัฒนาแพลตฟอร์มต่อไป 

Explanatory Style

มุมมองต่อความถาวร (Permanence) เมื่อเผชิญเหตุการณ์เชิงบวก คนแบบ Optimistic จะเชื่อว่าถาวร มันจะยังคงอยู่ต่อไป คนแบบ Pessimistic จะเชื่อว่าชั่วคราว แค่โชคดี เมื่อเผชิญเหตุการณ์เชิงลบ คนแบบ Optimistic จะเชื่อว่าชั่วคราว มันแค่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว คนแบบ Pessimistic จะเชื่อว่าถาวร มันจะเป็นแบบนี้ตลอดไป สำหรับเรื่องนี้ โดยส่วนตัวผม มีความเห็นไม่สอดคล้องกับทั้งแบบ Optimistic และ Pessimistic นะครับ น่าจะเป็นเพราะเราได้เรียนรู้ฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณ จึงช่วยให้เราอยู่กับความเป็นจริง ได้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงคือธรรมชาติ และสามารถนำมาสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เราไปได้ไกลกว่ากรอบคิดทั้ง 2 แบบนี้

มุมมองต่อความแพร่หลาย (Pervasiveness) เมื่อเผชิญเหตุการณ์เชิงบวก คนแบบ Optimistic จะเชื่อแบบเป็นสากล เช่น ฉันเก่ง คือ เก่งทุกเรื่อง (อันนี้ต้องระวังการพอกพูกตัวตน) คนแบบ Pessimistic จะเชื่อแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ฉันเก่งเฉพาะวิชานี้ เมื่อเผชิญเหตุการณ์เชิงลบ คนแบบ Optimistic จะเชื่อแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ฉันแค่ไม่เก่งวิชานี้ คนแบบ Pessimistic จะเชื่อแบบเป็นสากล เช่น ฉันไม่เก่ง คือ ไม่เก่งซักเรื่อง

มุมมองต่อรายบุคคล (Personalization) เมื่อเผชิญเหตุการณ์เชิงบวก คนแบบ Optimistic จะมองจากด้านใน เช่น เพราะฉันทำงานหนัก คนแบบ Pessimistic จะมองออกด้านนอก เช่น เพราะข้อสอบยากไป เมื่อเผชิญเหตุการณ์เชิงลบ คนแบบ Optimistic จะมองจากด้านนอก เช่น เพราะข้อสอบยาก คนแบบ Pessimistic จะมองจากด้านใน เช่น เพราะฉันไม่ได้ทำงานหนักพอ

มุมมองโดยรวม คือ คนแบบ Optimistic จะยกตัวเองขึ้นโดยเอาดีเข้าตัวและจะไม่โทษตัวเอง คนแบบ Pessimistic จะด้อยค่าตัวเอง

Exploring Explanatory Styles

เลือกเหตุการณ์เชิงบวก จากนั้นฝึกคิดในแบบ Pessimistic และ Optimistic เช่นเดียวกันให้เลือกเหตุการณ์เชิงลบ จากนั้นฝึกคิดแบบ Pessimistic และ Optimistic

Coping Styles

Coping with Negative Events 

  • การทำที่เหมาะสม คือ Active Coping รับผิดชอบ และเป็นผู้เลือกที่จะทำ มีทักษะ
  • การทำที่ไม่เหมาะสม คือ Overcontrol เครียด กลัว ทำตลอดพอหยุดแล้วร้องไห้เลย
  • การไม่ทำที่เหมาะสม คือ Surrender รู้ข้อจำกัด Let go, Peace, Faith
  • การไม่ทำที่ไม่เหมาะสม คือ Passive Coping การตกเป็นเหยื่อ ไม่ยากทำอะไรทั้งนั้น

กิจกรรม Spheres of Personal Control กำหนดผลลัพธ์ที่ปรารถนา เขียนเหตุปัจจัยที่จะสำเร็จ เหตุปัจจัยที่ควบคุมได้ และเหตุปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ จากนั้นสะท้อนการเรียนรู้

กิจกรรม The Resilience Plan สืบค้นเรื่องราวเชิงบวกจากประสบการณ์ที่ Resilience ได้ แบ่งเป็น 4 มิติ (1) Support that kept you upright (2) Strategies that kept you moving (3) Sagacity that gave you comfort and hope และ (4) Solution-seeking behaviors you showed จากนั้นให้นำสิ่งที่เขียนมาปรับใช้กับสถานการณ์ที่ยากลำบากในปัจจุบัน โดยเขียนออกมาทั้ง 4 มิติเช่นกัน

กิจกรรม Coping Style Analysis คือ กิจกรรมเด็ดเลย โดยต้องอาศัย The Coping Wheels ซึ่งแบ่งออกเป็น The wheel of non-adaptive coping strategies และ The wheel of adaptive coping strategies

Coping with Positive Events 

เรียกรวม ๆ ว่า "Savoring" หรือการดื่มด่ำ รวมไปถึงความรู้สึกขอบคุณ ชื่นชม หัวเราะ ยิ้ม การยินดีกับตัวเอง บันทึกความทรงจำที่ดีผ่านภาพถ่าย การเขียนบันทึก และรู้สัมผัสทางกาย เป็นต้น

Motivation

แรงจูงใจอาจมาจากการพบเจอปัญหา แต่ถ้าเรามุ่งเน้นแก้ปัญหาตลอดชีวิต เราจะไม่มีเวลาเหลือให้ทำอะไรที่เป็นคุณค่าของชีวิตเลย ดังนั้น เราสามารถเลือกที่จะเชื่อมโยงคุณค่าของชีวิต ใช้คุณค่าขับเคลื่อนให้ลงมือทำอย่างเหมาะสม (Active Coping) เพื่อขับเคลื่อนเรือใบของเราผ่านน่านน้ำไป ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากหรือช่วงเวลาแห่งความสุขก็ตาม

กิจกรรม Using Values to Motivate Active Coping ให้เราพิจารณาความท้าทายในชีวิตหนึ่งเรื่อง ระบุเหตุผลที่จะต้องก้าวข้ามความท้าทายนั้น ระบุคุณค่าในชีวิต และเชื่อมโยงการลงมือทำ ให้อยู่บนรากฐานของคุณค่าในชีวิต

--- รัน ธีรัญญ์

ส่วนหนึ่งในหลักสูตร Oxford Positive Psychology
อำนวยการสอน โดย Dr.W Md Rayman
และผู้เชี่ยวชาญจาก University of Oxford

Run Wisdom วิทยากร กระบวนกร ที่ปรึกษา โค้ชผู้บริหาร
เขียน 01 ก.พ. 2567 04:33
ปรับแก้ 20 ก.พ. 2567 14:57