องค์ความรู้ i-Peace Metaphor และ ITTI Learning Guideline

อุปมาการสังคราะห์ด้วยแสง (The i-Peace Metaphor หรือ The Photosynthesis Metaphor) คือ เครื่องมือที่สนับสนุนการพัฒนาด้านใน ช่วยให้ผู้เรียนรู้เข้าใจเนื้อหาโดยรวมได้แบบง่าย ๆ ผ่านองค์ประกอบของการสังเคราะห์ด้วยแสง และลักษณะของต้นไม้ แสงอาทิตย์ สายรุ้ง สายฝน สายลม และต้นกล้า เป็นต้น เป็นชุดความรู้ที่ยังคงเปิดรับข้อเสนอแนะ เพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (ปรับปรุงล่าสุด ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2567) [1]

ก่อประกอบเป็นเนื้อหาการเรียนรู้ผ่าน I-PEACE จำนวน 6 หัวข้อ

  • I (Inner Self) ต้นไม้ด้านใน เปิดรับการเรียนรู้ด้านในตนเอง
  • P (Presence) แสงแห่งปัจจุบันขณะ การฝึกสติ สมาธิ
  • E (Essence) สายรุ้งแห่งความจริง เปิดรับขยายมุมมองใหม่
  • A (Appreciation) รดน้ำคำชื่นชม และความรู้สึกขอบคุณ
  • C (Communication) สายลมการสื่อสาร และการฟังอย่างลึกซึ้ง
  • E (Encouragement) ต้นกล้าแห่งผู้นำ ชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย

และกระบวนการเรียนรู้แบบ ITTI จำนวน 4 ขั้นตอน

  • I (Initiate) การริเริ่มลงมือทำด้วยฉันทะ จิตตะ วิริยะ หรือวิมังสา
  • T (Touch the Presence) การสัมผัสความสุขจากสมาธิ
  • T (Tune the Mind) การปรับสภาวะจิตใจให้ลงมือทำได้อย่างต่อเนื่อง
  • I (Integrate) การบูรณาการ เชื่อมโยง รวมกลุ่ม แบ่งปัน

เป้าหมายของอุปมาการสังเคราะห์ด้วยแสง (The Photosynthesis Metaphor) คือ การนำเสนอความง่ายและมุมมองที่หลากหลายแห่งตัวตน โดยพยายามนำเสนอให้เห็นการทำงานแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงปัจจัยที่หลากหลายทั้งด้านบวกและด้านลบที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านใน โดยมีคำอธิบาย ดังนี้ 

 


 

ต้นไม้ด้านใน

ต้นไม้ อุปมาแทนก้าวย่างสู่การพัฒนาด้านใน (Inner Self) เป็นการสัมผัสถึงโลกความจริงภายในตัวตน (Self-awareness) ซึ่งประกอบด้วย 2 ด้าน คือ กิ่งก้านที่เต็มไปด้วยใบไม้ที่เขียวชอุ่ม และกิ่งก้านที่เหี่ยวเฉาปราศจากใบไม้ เมื่อพบความจริงแล้ว อาจเกิดท่าทีเปิดรับ (Openness) พร้อมเรียนรู้ หรือไม่ก็อาจจะปิดรับ ปกป้อง (Defense) รอคอยวาระเวลาที่เหมาะสม ก้าวย่างสู่การพัฒนาด้านใน จึงเป็นดั่ง ต้นไม้ด้านใน” (Inner Tree) ที่มีชีวิตและเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม

นอกจากนี้ กิ่งก้านของต้นไม้ ยังอุปมาได้เป็นกิ่งก้านของเซลล์ประสาทในสมอง (Dendrite, Dendritic Spine) เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะเกิดก้านใหม่ในเซลล์ประสาทของสมอง (Dendritic Spine Formation) เมื่อฝึกฝน บ่มเพาะก้านนั้นจะแข็งแรง (Dendritic Spine Growth) และเมื่อใช้ทักษะนั้นอยู่เรื่อย ๆ ก้านนั้นจะยังคงอยู่ (Dendritic Spine Maintenance) แต่ถ้าไม่ได้ใช้งานนาน ก้านนั้นก็จะหายไป (Dendritic Spine Elimination)

 


 

แสงแห่งปัจจุบันขณะ

แสงอาทิตย์ อุปมาแทนการดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ (Presence) ท่ามกลางบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายที่ต้องบรรลุผล ทุกก้าวเดินระหว่างทางจึงเต็มไปด้วยแรงกดดัน (Pressure) ทั้งเกิดจากการกดดันตนเองและการกดดันผู้อื่นที่อยู่รอบตัว การบ่มเพาะสติและสมาธิ จะช่วยให้เกิดการผ่อนคลายระหว่างทาง สร้างสมดุลให้กับเป้าหมายปลายทาง (End-state Goal) และเป้าหมายระหว่างทาง (Process Goal) เมื่อเราดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ จะเป็นเหมือนแสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง ให้เราเห็นทุกด้านของชีวิตด้วยใจที่เป็นกลาง

“Opposition between good and bad is often compared to light and dark, but if we look at it in a different way, we will see that when light shines, darkness does not disappear. It doesn't leave; it merges with the light. It becomes the light.”  --- Thich Nhat Hanh

 


 

สายรุ้งแห่งความจริง

สายรุ้ง อุปมาแทนการเห็นแก่นสาระของชีวิต (Essence) ทั้งกลไกของการยึดติด (Attachment) และการเปิดรับมุมมองใหม่ (Perspective Skills) โดยการปรากฏขึ้นของสายรุ้งนั้น ยังอุปมาถึงความหมายที่ลึกซึ้งของการสัมผัสพบ สภาวะที่ไม่มีตัวตนที่แบ่งแยก สายรุ้งไม่ได้มีตัวตน แต่เกิดจากแสงอาทิตย์และสายฝน เป็นความเข้าใจที่ลึกซึ้งที่อาจปรากฏขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เหมือนห้องที่มืด แล้วเปิดไฟให้สว่างขึ้น แม้ไฟจะดับลงไป ก็ได้เห็นแล้วว่าในความมืดนั้นมีอะไร (Enlightenment)

 


 

รดน้ำคำชื่นชม

สายฝน อุปมาแทนความรู้สึกชื่นชม (Appreciation) และความรู้สึกขอบคุณ (Gratitude) ซึ่งทำให้เกิดการเบาใจ ปล่อยผ่านอดีตที่ขุ่นเคืองได้ง่าย บรรเทาความรุ่มร้อนในใจ จึงอุปมาเป็นดั่งสายฝนที่เย็นชุ่มฉ่ำใจ รวมไปถึงการเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น นำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี เกื้อกูลให้เกิดความปลอดภัยทางใจ (Psychological Safety) ซึ่งสำคัญมากในการเรียนรู้ด้านใน เช่นเดียวกับสายฝนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการสังเคราะห์ด้วยแสง

 


 

สายลมการสื่อสาร

สายลม อุปมาแทนทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงประสบการณ์ ความรู้สึก เจตจำนง และองค์ความรู้ระหว่างกัน ส่งผลให้การพัฒนาด้านในเกิดการบูรณาการและขยายวงกว้าง เช่นเดียวกับสายลมที่พัดพาเมล็ดพันธุ์ให้แพร่ขยายออกไป จนกลายเป็นต้นกล้าที่หยั่งรากสู่ดิน นอกจากนี้ การสื่อสารที่ตั้งอยู่บนรากฐานของการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และการย้อนกลับมาสะท้อนตนเอง (Self-Reflection) ยังมีประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านในของตนเองอีกด้วย เช่นเดียวกับสายลมที่กระตุ้นให้ต้นไม้เคลื่อนไหว จนทำให้ระบบรากและลำต้นมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะยืนต้นได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ เราขอเชิญชวนให้ผู้สนใจนำการสะท้อนตนเอง ไปบูรณาการในการสร้างสรรค์งานเขียน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเรียบเรียงการเรียนรู้โลกด้านนอกและโลกด้านในไปด้วยพร้อมกัน ในวันหนึ่ง... เราจะไม่ถูกเรียกว่า "รู้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องตัวเอง" แต่เราจะค่อย ๆ เรียนรู้เรื่องราวในโลกด้านนอก ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้โลกด้านในใจตนเอง และเราขอเสนอชื่อเรียก ของการสร้างเนื้อหาในโลกออนไลน์แบบนี้ว่า "Inner-Generated Content" 

 


 

ต้นกล้าแห่งผู้นำ

ต้นกล้า อุปมาแทนการขยายผลความกล้าหาญ (Encouragement) เป็นความกล้าหาญที่จะก้าวข้ามตัวตน ความคิด ความเชื่อของตนเองได้ นำพาไปสู่ ภาวะผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแปลงตนเองจากด้านใน และขับเคลื่อนให้ผู้คนเกิดความกล้าหาญในแบบเดียวกัน นอกจากนี้ ต้นกล้าที่งอกงามขึ้นมาใหม่ ยังอุปมาแทนจิตใจแห่งผู้เริ่มต้น (Beginner’s Mind) คือ คนที่พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และสามารถเข้าใจผู้อื่นที่กำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เช่นกัน จึงทำให้ผู้นำเกิดความเข้าใจและความรัก สามารถให้โอกาสผู้อื่นได้เติบโตงอกงามอย่างเป็นอิสระ ตามวาระเวลาที่เหมาะสมและตามเส้นทางของเขาเอง

กระบวนการเรียนรู้ แบบ ITTI

"ITTI" อ่านว่า "อิทธิ" บูรณาการจาก อิทธิบาท 4 ตามการสาธยายธรรมจากพระไตรปิฎก โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) และ อ.ดร.สุภีร์ ทุมทอง ที่กล่าวว่า อิทธิบาท 4 สามารถเริ่มต้นที่ข้อไหนก่อนก็ได้ จากนั้นจะเกิดความสุขจากสมาธิ และ จะตามด้วย "ปธาน 4" ที่ช่วยปรับแต่งสภาวะภายในจิตใจ ให้เกิดการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบูรณาการกับการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ของ David A. Kolb ที่ประกอบด้วย (1) การลงมือทำ, (2) การรู้สึกกับสิ่งทีทำ, (3) การเห็น การสะท้อน และ (4) การตกผลึก ประยุกต์ปรับใช้ จึงกลายเป็น "ITTI" (Initiate, Touch, Tune, Integrate)
 
1. Initiate (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ หรือวิมังสา)
เลือกประเด็นที่ตรงกับคุณค่าของตนเอง
เพื่อทำการศึกษา ลงมือทำ และ จดบันทึก
 
2. Touch the Presence (สมาธิ)
สัมผัสความสุขจากการมีสมาธิในสิ่งที่ทำ
ร่วมกับการฝึกสติ บ่มเพาะสมาธิ (Presence)
 
3. Tune the Mind (ปธานสังขาร)
สะท้อนการเรียนรู้จากประสบการณ์
เพื่อให้เกิดการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
 
4. Integrate (เชื่อมโยง รวมกลุ่ม)
ปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน
เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ส่วนตัว
 
อ่านรายละเอียดของ ITTI Learning Guideline ได้ที่บทความนี้

ข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจเรียนรู้

          ในการเรียนรู้ที่จะขับรถยนต์ให้เป็น เพียงแค่การอ่านหรือการฟังนั้นยังไม่เพียงพอ แต่เราจะต้องลงมือฝึกฝน เช่นเดียวกันกับการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาด้านใน เพียงแค่การอ่านหรือการฟังนั้นยังไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ นำพาตัวเองผ่านอุโมงค์ประสบการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยในแต่ละครั้ง ความสามารถในการเห็นของเราก็แตกต่างกันไป การเรียนรู้เช่นนี้ ช่วยให้เกิดความเข้าใจใหม่ ๆ จนสามารถปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง

ข้อแนะนำสำหรับผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้

          กระบวนการเรียนรู้และเครื่องมือในการเรียนรู้ เป็นเพียงแนวทาง ไม่ใช่กฎที่ต้องทำตามเสมอไป สิ่งที่สำคัญคือการตระหนักรู้ในสภาวะของตนเอง (Aware) และการซึมซับรับรู้ในสภาวะของผู้เรียนแต่ละคน (Absorb) ซึ่งคือรากฐานสำคัญที่จะทำให้เรารู้ว่าจะปรับเปลี่ยนกระบวนการอย่างไร (Adapt) ให้เกิดความเหมาะสม [2]

The Photosynthesis Metaphor

The Photosynthesis Metaphor is a tool that supports inner development. Makes participants understand the overall content easily through the elements of photosynthesis. Including the characteristics of trees, sunlight, rain, rainbows, wind, and rooted seedlings, etc., while still being open to suggestions for continuous research and development.

The goal of this photosynthesis metaphor is to offer a simple and multi-faceted perspective on the self. The metaphor attempts to address human functioning from a holistic perspective, taking into account the many factors, both positive and negative, that influence inner development.

Author

This tool was created by Theeran Pairojangsuthorn and Member of InnerCorner.com. Feel free to use and distribute this tool, but please give credit to the author when doing so. Please use the following reference: Theeran Pairojangsuthorn et al. (2024). The i-Peace Metaphor. InnerCorner.com. The author wishes to thank all friends for their valuable comments and suggestions.

 

หลักสูตรที่เกี่ยวข้อง



[1] ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร. 2567. สันตินวัตกรรมการส่งเสริม "เป้าหมายการพัฒนาด้านใน" ผ่านแพลตฟอร์ม "อินเนอร์ คอร์เนอร์" [วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

[2] ธีรัญญ์ ไพโรจน์อังสุธร. 2564. ภาวะผู้นำแบบเอื้ออำนวยในคณะ ดั่งกันและกันหมู่บ้านพลัม ประเทศไทย [วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยมหิดล.

HomeRoom Inner Development Platform
Since:
Update:

Read : 425 times