ขณะนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ในอเมริกาและยุโรป 4,000 คนรวมตัวกัน จาก Harvard บ้าง Stanford บ้าง Oxford บ้าง รวมตัวกันขับเคลื่อน IDGs เขาบอกว่า SDGs ที่ชูกันมาหลายปีแล้ว ไม่มีทางบรรลุหรอก นอกจากจะมี IDGs เพราะฉะนั้นเขาจึงบอกว่าต้องมี IDGs เพื่อให้ SDGs มันเกิด
IDGs ก็คือ Inner Development Goals โดย Inner ก็หมายถึง จิตใจ เราจะเรียกว่าอะไร พัฒนาภายใน พัฒนาจิตใจ พัฒนาจิตสำนึกใหม่ จิตตปัญญาศึกษา สุขภาวะทางปัญญา อาจจะมีชื่อเรียกมากมาย แต่คราวนี้ เขาเรียก IDGs หรือ Inner Development Goals
เขากำลังรวมตัวกันขับเคลื่อน ทีนี้มันไม่ใช่อยู่ดี ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์พวกนี้จะมา เพราะถ้าเราไปอยู่ในอเมริกา ในยุโรป เราจะเห็นนักวิทยาศาสตร์เจริญสติกัน เรื่อง Mindfulness เป็นเรื่องที่ Popular มาก เพราะฉะนั้น คนพวกนี้มีประสบการณ์ต่าง ๆ บางทีก็เรียกว่า Mindfulness บางทีก็เรียกว่า Buddhist Mindfulness บางทีก็เรียกว่า วิปัสสนา เขาทำกันเยอะเลย
มีหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อสมองแห่งพุทธะ หรือ Brain of Buddha นักจิตวิทยาอเมริกัน กับหมอทางประสาทวิทยา 2 คน ทำกรรมฐานอยู่หลายปี แล้วก็วิจัยทางสมอง เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาดี เขาเขียนเรื่องสมอง แต่ว่าขณะเดียวกัน เขาเขียนเรื่องเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา เหมือนชาวพุทธ พูดเลย เพราะเขาทำ เขาทำมาด้วยตัวเองหลายสิบปี แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในสมอง
อย่างคนยิว ที่เขียนหนังสือเรื่อง เซเปียนส์ ชื่อ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี เขาบอกว่าตัวเขาเองทำวิปัสสนาทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง ตกลงเรื่องวิปัสสนา เรื่องเจริญกรรมฐาน มัน Popular ขึ้น คนทำเยอะ มันจึงเป็นที่มาว่านักวิทยาศาสตร์ 4,000 คน ได้รู้จักสิ่งเหล่านี้ จากที่ขับเคลื่อนเรื่องวัตถุ แต่ตอนนี้ มาขับเคลื่อนเรื่อง Inner Development Goals
เพราะฉะนั้น จึงเป็นแนวโน้มที่พยากรณ์ได้ว่ามนุษย์จะเจริญสติทั่วโลก ทั้งโลกเลย เพราะมันได้รับผลดี พอเจริญสติแล้วเจอความสุข จิตใจก็ดี สติปัญญาก็ดี ความสัมพันธ์ก็ดี ความเจ็บป่วยก็น้อยลง ภูมิคุ้มกันก็เพิ่มขึ้น เจออย่างนี้ทุกคนก็รู้แล้วว่าสิ่งนี้ดี เจริญสติ เป็น “Happiness of low cost” ทำแล้วติดอกติดใจ ทุกคนที่ทำแล้วเจอ พูดตรงกันว่า ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่ได้เจอสิ่งนี้ ก็รู้สึกว่าจะขาดทุนแย่เลย เพราะฉะนั้นต่อไป มนุษย์จะเจริญสติทั้งโลก
ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่ได้เจอสิ่งนี้ ก็รู้สึกว่าจะขาดทุนแย่เลย เพราะฉะนั้นต่อไป มนุษย์จะเจริญสติทั้งโลก
IDGs หรือ Inner Development Goals จะเรียกว่า จิตตปัญญา จิตวิวัฒน์ สุขภาวะทางปัญญา หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งมันมีนานาวิถีที่จะเข้าถึงที่ตรงนี้
จากภาพถ้าเราดูวงในสุดคือผล ผลคือความสุข ความสุขอยู่วงในสุด วงที่สองเราก็รู้แล้วว่ามันเกิดจากปัญญาเข้าถึงความจริงที่เหนือตัวตน แล้วทำให้เกิดสุขภาวะทางปัญญา ทีนี้ ทำอย่างไรจะเข้าถึงความจริง เข้าไม่ได้ด้วยการคิดเชิงตรรกะ เพราะฉะนั้นวิชาการต่าง ๆ เข้าไม่ได้ แต่เข้าได้เมื่อจิตสงบ อาจจะสงบเองแล้วเข้าถึง หรือว่าเจริญสติ เจริญสมาธิ อันนั้นก็เป็นการเข้าถึง เพราะฉะนั้น สติ สมาธิ ปัญญา จึงไปด้วยกัน อันนี้ก็เป็นทางที่เราใช้กันอยู่
เนื้อหาตอนหนึ่งจากปาฐกถา โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ประธานที่ปรึกษาการจัดงานประชุมวิชาการฯ ในงานประชุมวิชาการและความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 : 17-18 สิงหาคม 2566 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย