ทฤษฎีการแพร่กระจายของนวัตกรรม (Diffusion of Innovation Theory)

ทฤษฎีการแพร่กระจายของนวัตกรรม (Diffusion of Innovation Theory) โดย Everett M. Rogers (Rojers, 2003) ได้จัดแบ่งกลุ่มคนตามช่วงเวลาในการตัดสินใจ เพื่อเริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 กลุ่มบุกเบิก (Innovators)

มีอยู่ 2.5% เป็นกลุ่มที่มีความกระตือรือร้นในด้านเทคโนโลยี มีความพร้อมทางด้านการเงินและทักษะในการใช้งาน เมื่อนวัตกรรมเปิดตัวแล้วจะตัดสินใจใช้ทันที มีบุคลิกกล้าเสี่ยง กล้าลอง จนถึงขั้นหลงใหลในสิ่งใหม่ ๆ ทำให้คนกลุ่มนี้ มีลักษณะแตกต่างจากวงสังคมใกล้ตัว และนำพาตัวเองเข้าสู่วงสังคมในระดับสากล สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คนกลุ่มนี้พร้อมรับความล้มเหลว เมื่อมีแนวคิดใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิมก็พร้อมจะยอมรับความจริง

กลุ่มที่ 2 กลุ่มล้ำสมัย (Early Adopters)

มีอยู่ 13.5% เป็นกลุ่มคนที่มีความเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรม เปิดใจให้กับสิ่งใหม่ ๆ คอยให้คำแนะนำ และให้ข้อมูลกับคนรอบตัว ได้รับความเคารพจากคนรอบตัว จึงมีความกลมกลืนอยู่กับสังคมใกล้ตัวมากกว่าคนกลุ่มที่ 1 ที่กลมกลืนกับสังคมในระดับสากล

กลุ่มที่ 3 กลุ่มทันสมัย (Early Majority) 

มีอยู่ 34% เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ยอมรับแนวคิดใหม่ ๆ ก่อนคนทั่วไปในสังคม ไม่ใช่ผู้นำทางเทคโนโลยี แต่พร้อมจะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง โดยคนกลุ่มนี้จะใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ จึงมีส่วนสำคัญในแพร่กระจายของนวัตกรรมในสังคม

กลุ่มที่ 4 กลุ่มตามสมัย (Late Majoriry)

มีอยู่ 34% เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ยอมรับแนวคิดใหม่ ๆ หลังคนทั่วไปในสังคม มีความลังเลสงสัยในแนวคิดใหม่ ๆ จะตัดสินใจใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพราะความจำเป็นหรือได้รับแรงกดดันทางสังคม หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า นวัตกรรมนั้นจะต้องเป็นบรรทัดฐานของสังคมก่อน คนกลุ่มนี้จึงจะตัดสินใจใช้

กลุ่มที่ 5 กลุ่มล้าหลัง (Laggards)

มีอยู่ 16% ซึ่งมีปริมาณเท่ากับกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 รวมกัน แต่กลุ่มที่ 5 ไม่สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้ เนื่องจากงานวิจัยพบกว่า กลุ่มที่ 5 ทั้ง 16% นี้ มีลักษณะที่กลมกลืนกัน คือ ยึดโยงอยู่กับอดีต คำนึงถึงคนรุ่นก่อน เมื่อตัดสินใจใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีนั้นก็อาจล้าหลังไปแล้ว คนกลุ่มนี้นอกจากจะมีความลังเลสงสัยในแนวคิดใหม่ ๆ ยังลังเลสงสัยในกลุ่มคนที่เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) อีกด้วย

หากต้องการให้นวัตกรรม หรือแนวคิดใหม่ ๆ ได้รับการยอมรับและเป็นประโยชน์กับสังคม การศึกษาเรื่องการแพร่กระจายของนวัตกรรม (Diffusion of Innovation Theory) คงไม่ได้ทำเพื่อจะตัดสินว่าใครดีกว่าใคร แต่เป็นการศึกษาเพื่อออกแบบว่า เราจะส่งมอบนวัตกรรม หรือแนวคิดใหม่ๆ ให้เกิดความเหมาะสมกับคนในแต่ละกลุ่มได้อย่างไร

--- รัน ธีรัญญ์ #runWISDOM

Reference: Rogers, Everett M.  Diffusion of Innovations, Fifth edition, New York: Free Press., 2003.

HomeRoom Personal Websites for Inner Development
เขียน 10 ก.ค. 2566 06:56
ปรับแก้ 16 ก.ค. 2566 15:29