ม่อนเป็นเพื่อนของผู้เขียนในช่วงวัยแตะยี่สิบ
ม่อนเป็นผู้ชายแมนๆ วางตัวซัพพอร์ตทุกคน
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสัมผัสจากตัวม่อนได้ก็คือ
ม่อนเป็นคนซื่อตรงกับความรู้สึกตัวเองมาก
มันมักจะพูดและทำอย่างที่ใครๆ เชื่อมั่นว่า
“มันตั้งใจแก้ปัญหาจริงจัง”
ไม่ป่วน ไม่ปั่น ไม่ทำให้ยุ่งยากบานปลาย
ไม่ว่าเกิดปัญหาจะใหญ่หรือเล็ก
ถ้าม่อนอยู่ที่นั่น ผู้เขียนจะรู้สึกอุ่นใจ
ด้วยความที่เราต้องเรียนด้วยกันต่อเนื่องเป็นเวลา ๕ ปี
อีกทั้งบ้านเช่าของเราอยู่ห่างกันเพียงไม่กี่ก้าว
ผู้เขียนจึงรู้สึกสนิทใจและนับถือม่อนอยู่ในที
วันหนึ่ง เราครึ้มอกครึ้มใจ
ม่อนก็เล่าถึงวีรกรรมในช่วงมัธยมให้ฟัง
เรื่องนี้ตราตรึงใจผู้เขียนเรื่อยมาจนถึงวันนี้
เรื่องมีอยู่ว่า...
โรงเรียนของม่อนเป็นโรงเรียนประจำชายล้วน
รับนักเรียนในระดับป. ๕ และม.๑
เพื่อมาเรียน-กิน-นอนร่วมกัน จนจบ ม. ๖
ม่อนไม่ได้บอกว่าเข้าโรงเรียนนี้ ตอนไหน
แต่มันเล่าว่าที่นั่นมีระบบการปกครองอยู่อย่างหนึ่ง
ระบบที่ว่า มันคือ “ส่วย”
ก็ง่ายๆ คือนักเรียนทุกคนทุกระดับชั้นจะต้องจ่ายเงินให้ ม.๖ พี่โตสุด
เมื่อใดที่ ม.๖ จบไป
ม. ๕ ที่ขึ้นมาก็จะได้รับสิทธิการเรี่ยรายนี้โดยปริยาย
ม่อนว่า “มันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว”
ผู้เขียนตั้งใจฟังเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เพราะตนเองนั้นเรียนในโรงเรียนสห , ไป-กลับ
แถมยังอยู่โรงเรียนเดียวโรงเรียนเดิม ตั้งแต่ป.๑ ถึง ม.๖
ไม่รู้จักระบบระเบียบของสถานศึกษาอื่นเลย
ม่อนบอกว่า ตนเองและเพื่อนรู้สึก “ไม่ชอบใจ” ระบบนี้กันเท่าไหร่
มันจึงทำข้อตกลงกับเพื่อนๆ ว่า
“ตอนพวกเราขึ้น ม. ๖ เราจะเลิก!”
ผู้เขียนคิดเอาเองว่า
คงมีเพื่อน ม.๕ คนอื่นที่ไม่เห็นด้วยเป็นแน่
เพราะมันคือการทิ้งผลประโยชน์ที่ตนพึงจะได้รับไป
และเพราะสิ่งที่ต้องแลกกับการอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้มาโดยตลอด
คือ “ยอมจ่าย”
หรือจะคิดได้ว่า
แล้วเรื่องอะไรที่จะต้องเปลี่ยนในรุ่นเรา?
อยู่มาถึงขนาดนี้แล้ว ทำเฉยเสีย ปีเดียวก็จบแล้ว?
ขออยู่อย่างสบายๆ สักปีไม่ดีเหรอ?
นี่เป็นธรรมดาของโลกอยู่แล้ว
มีคนได้ประโยชน์ ก็ต้องมีคนเสียประโยชน์?
แต่ม่อนและเพื่อนไม่ยอมทำตามสิ่งที่สืบทอดกันมา
เพราะมันซื่อตรงต่อความรู้สึกของมันจริงๆ
แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้ว พวกของม่อนสามารถรับผลประโยชน์จากมันได้อย่างไม่มีข้อกังขา
สุดท้ายตอนที่ม่อนขึ้น ม. ๖
“โรงเรียนแห่งนั้น ไม่มีการเก็บส่วย”
ถึงบรรทัดนี้
ผู้อ่านคงคิดวิจารณ์เรื่องนี้ได้มากมาย
ระบบไม่ยุติธรรม?
ครูฝ่ายปกครองไม่ตรวจสอบ?
โรงเรียนไม่ได้มาตรฐาน?
สังคมไทยมันชอบเอาเปรียบกัน?
คนมันห่วย? โลกนี้มันแย่?
แต่....
เหตุผลเหล่านั้นผู้เขียนไม่สนใจ
เพราะเข้าใจว่า ม่อนและเพื่อนต้องใคร่ครวญมาหมดแล้ว
และอาจจะรวมถึงรุ่นพี่ๆ ที่จบไปแล้วบางคนด้วย
หากชวนกันมามองอย่างใจที่เปิดกว้าง
“การปฏิวัติ” ครั้งนี้
ม่อนและเพื่อน ไม่ได้มองไปไกลตัวเลย
มันและเพื่อน ได้ลงมือทำด้วยตนเอง ตามกำลัง
ในเวลาที่เหมาะสมที่สุด ใช้สิทธิที่พึงได้รับอย่างเต็มที่
และต้องมั่นคงกับการตัดสินใจไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
“เมื่อไม่ชอบสิ่งใด ก็อย่าทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น”
นี่คือความกล้าหาญ อดทน และสามัคคี
มันเป็นความรักความเข้าใจที่มอบให้รุ่นน้องและโรงเรียน
มันเป็นการใช้ “หัวใจ” มากกว่า “สมอง”
หากพวกเราทำได้ น้องๆ ก็ไม่ต้องจ่าย
หากพวกเราทำได้ น้องๆ ก็ไม่ต้องอึดอัด
หากพวกเราทำได้ น้องๆ ก็จะได้รู้จักสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม
และม่อนกับเพื่อนก็ทำสำเร็จ
แวบหนึ่งแอบคิดไปว่า
หากเหล่า ม.๕ รุ่นน้องของม่อนที่กำลังเฝ้ารอวันคืนที่จะขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ล่ะ
พวกเขาจะไม่กลับไปทำแบบเดิมเหรอ?
และหรือหากพวกเขาเลือกที่จะกลับไปทำมันอีกครั้งเล่า?
สิ่งที่ม่อนและเพื่อนๆ ตั้งใจและทำลงไป มันไม่สูญเปล่าหรอกเหรอ?
คำถามเหล่านี้ตั้งอยู่ได้เพียงครู่เดียว
ใจผู้เขียนก็ได้คำตอบว่า
“ช่างปะไร ทำในสิ่งที่เราทำได้ก็พอ
สิ่งที่เราทำไปแล้ว ย่อมอยู่ในความทรงจำรุ่นน้องสักคนแน่นอน”
“และจริงๆ นะม่อน
เรื่องนี้อยู่ในใจเราด้วยว่ะ”
“เมื่อไม่ชอบสิ่งใด ก็อย่าทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น”
วัดสุนันทวนาราม กับลมหนาวโชยฝน