จาก 9 วิธีฟื้นฟูต้นมะม่วงในพระมหาชนก สู่ 9 วิธีฟื้นฟูจิตสำนึกคนไทย

จาก 9 วิธีฟื้นฟูต้นมะม่วงในพระมหาชนก สู่ 9 วิธีฟื้นฟูจิตสำนึกคนไทย
::: 9 Re-Create Thai Heart :::

1. เพาะเมล็ดค้นพบเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามภายใน

มองลึกเข้าไปภายในตัวเอง ให้เห็นความเป็นตัวตนของตัวเอง ทั้งความงดงาม ความแข็งแกร่ง และด้านที่เปราะบางอ่อนแอ อยู่กับความรู้สึกข้างในลึกๆ ค่อยๆ รับรู้ ยอมรับ ไม่ปฏิเสธ และให้ความสำคัญกับความเป็นตัวตน มองเห็นการขยายขึ้นจากภายในจนกลายเป็นตัวตนเราที่เป็นนิสัย และชีวิตเรา เพื่อเราจะสามารถคัดกรองเมล็ดพันธุ์ที่ดีงดงามในตัวตนให้เติบโต บำรุงให้แข็งแรง และเฝ้าดูส่วนที่อ่อนแออย่างเมตตา

2. ถนอมราก ย้อนรำลึกเชื่อมโยงทุกสายสัมพันธ์ในความเป็นเรา

คือการรักษาความผูกพัน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวคือการเชื่อมโยงหล่อเลี้ยงเกื้อกูลให้ชีวิตของเราได้เติบโตขึ้นมาจนเป็นคนถึงทุกวันนี้ แหล่งทรัพยากรทั้งกายภาพและจิตใจจากภายนอกให้ดี แม้กระทั่งความสัมพันธ์ใดที่เสียหายหรือตัดขาดไปแล้ว รากเหง้าของความสัมพันธ์นั้นในตัวเรายังอยู่ หากเราสามารถฟื้นฟูให้กลับมาแข็งแรงดั้งเดิม การคืนดีของความสัมพันธ์และความเข้าใจเล่านี้ จะนำมาซึ่งการเชื่อมโยงสิ่งดีๆ กลับมาสู่เรา

3. ปักชำกิ่ง พร้อมส่งมอบแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ภูมิปัญญา

ปัญญาความรู้ใดที่เกิดขึ้นและมีประโยชน์ ควรถ่ายทอดขยายผลเหล่านี้ออกไปยังผู้อื่น เพื่อแพร่ขยายสิ่งที่ดีงามเหล่านั้นในสังคม การสอนและการถ่ายทอดสู่ผู้อื่นจะทำให้เกิดการพัฒนาปัญญาภายในตัวเราอย่างมากมาย ให้งอกงามใหม่ขึ้นมาอีก และเบ่งบานยิ่งกว่าเดิม

 4. เสียบยอด ต่อยอดทุกการเรียนรู้ แสวงหาผู้รู้เป็นกัลยาณมิตร

ในสิ่งใดที่เรายังไม่รู้และยังมืดมนหนทางอยู่ จงเปิดใจรับ มองหาความสว่างความรู้จากผู้อื่น มาส่องในจุดนั้น เพื่อมาพัฒนาเป็นแนวทางในการเจริญเติบโตและเรียนรู้ด้วยตนเองในเรื่องนั้นต่อไป ปัญญาความรู้และประสบการณ์จากผู้อื่นสามารถเข้ามาเติบโตและงอกงามในตัวเราได้เช่นกัน

 5. ต่อตา เปิดใจรับฟัง ทุกความเห็นทุกความคิดต่าง

ปัญญาหรือความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นในเรื่องหนึ่ง หากได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสานกับปัญญาจากผู้รู้อื่นในเรื่องนั้น จะสามารถนำมามองเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนมุมมองในด้านที่เรายังไม่รู้ เห็นในมุมอื่นๆ เกิดการเชื่อมโยงจนเกิดความสว่างขึ้นทั่วตลอด และสามารถแผ่ขยาย ให้ออกดอกผลได้มากขึ้น

 6. ทาบกิ่ง - เชื่อมประสาน พัฒนาต่อยอด ความรู้ความเข้าใจ

ประสบการณ์และความรู้จากแหล่งที่แตกต่างกันอาจล้วนสามารถเชื่อมโยงประสานกันได้ เพื่อก่อให้เกิดความรู้ที่ลึกซึ้งเข้มแข็งขึ้น ลองนำความรู้หนึ่งมาต่อยอดประสานกับอีกปัญญาความรู้หนึ่ง โดยอาจให้ความรู้หนึ่งเป็นฐานและอีกหนึ่งเป็นการต่อยอดหรือสลับกันไปมา เพื่อให้เกิดการสอดประสานทางปัญญา เพื่อให้ความเข้าใจในตัวเราเกิดดอกผลและขยายต่อไปได้อีกหลากหลาย

7. ตอนกิ่ง - หยั่งรากให้ลึกถึงเนื้อแท้แห่งปัญญา นำไปขยายผลสู่สังคม

เมื่อเราสามารถพัฒนาในสิ่งที่เชี่ยวชาญจนเป็นตัวตนที่เข้มแข็งของเรา ก็สมควรที่จะศึกษาลงลึกให้ถ่องแท้ถึงฐานรากที่เป็นภูมิปัญญาในสิ่งๆ นั้น คล้ายการหยั่งรากลึกเพื่อให้พร้อมแผ่ขยายความเขื่อมโยงไปยังที่มาอันเกี่ยวข้องทั้งหมด และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนขององค์ความรู้ ด้วยความไม่ยึดมั่น จงยินดีปล่อยวางและส่งต่อให้ความรู้นั้นแตกแขนงแยกออกไปจากตัวเรา เพื่อนำไปขยายเกิดเป็นรากฐานขององค์ความรู้ใหม่แก่สังคม

 8. รมควันมีความอดทนพากเพียรในการบ่มเพาะชีวิต

หากเราเก็บรักษาตนเองอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) ตลอดเวลา เราก็จะไม่ขยับไปไหน การรู้เห็นใหม่ๆ ก็จะไม่เกิด บางครั้งเราอาจต้องนำตัวเองไปสู่สภาวะยากลำบากบีบคั้น เพื่อบ่มเพาะความเพียรให้มุ่งหน้าต่อไป ไกลออกไปจนปัญญาเกิดขึ้น จนสามารถมองเห็นจนเกิดความรู้แจ้งในเรื่องนั้น แต่หากกดดันตัวเองมากเกินไป ก็จะกลายเป็นความตึงจนเครียดเกิดสภาวะต่อต้านจากภายใน แบบนี้ปัญญาก็ไม่เกิด ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นกระตุ้นตัวเองอยู่เรื่อยๆ ไม่หย่อนเกินไป แต่ก็ไม่เร่งไม่เค้นเกินไป คือความพอดี และทางสายกลางสู่ความสำเร็จ

 9. ทำชีวาณูสงเคราะห์ เข้าถึงส่วนลึกอันเป็นความจริงแท้ของชีวิต

เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูชีวิตจากภายใน คือการเข้าถึงความจริงภายในตน หากเราสามารถสัมผัสและค้นพบจิตเดิมแท้ได้ จะเกิดความเข้าใจในชีวิต เข้าถึงคุณค่าและการเติบโต ภาระหน้าที่อย่างสมบูรณ์ก็จะเกิดขึ้น นั่นคือการเข้าถึงธรรมหรือของความจริงแท้ของชีวิต สัมผัสความงามและมอบความความรักให้กับชีวิต เปรียบเหมือนการกลับถึงและฟื้นฟูบ้านที่แท้จริง อันเป็นบ่อน้ำพุอันศักดิ์ที่หล่อเลี้ยงให้เราได้กลายเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง เพราะได้เข้าถึงภูมิปัญญาและดำรงชีวิตด้วยความเมตตากรุณาทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอย่างไม่รู้จบ

BeingCreator I'm just a designer who want to change the world I live
เขียน 10 ต.ค. 2566 19:52
ปรับแก้ 10 ต.ค. 2566 20:34